วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes)

     เดิมตั้งใจว่า จะเขียนถึงฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) ที่ได้ทิ้งท้ายไว้ในบล็อกที่แล้วแต่บังเอิญมีคนบอกว่า เขียนแบบวิชาการมาก ก็ไม่รู้จะแก้ตัวอย่างไร เพราะเป็นวิชาการจริงๆที่ตั้งใจให้คนที่เข้ามาอ่านได้รับความรู้อย่างแท้จริง ย้อนกลับมาคิดอีกที ไม่ทราบว่า คนที่เข้ามาอ่านจะเข้าใจในความหมายจริงๆที่ต้องการสื่อให้รับทราบหรือไม่ จึงขออนุญาตพูดถึงภาวะก่อนเบาหวานอีกครั้ง

     สมมติว่า นาย ก. ไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ทุกอย่างปกติหมด มีเพียงแต่ค่าของน้ำตาลในเลือดที่ตรวจหลังอดอาหารได้ 108 มก/ดล. ซึ่งคุณหมอก็ได้อธิบายว่า ยังไม่เป็นเบาหวาน อาจจะสูงกว่าปกติเล็กน้อย พยายามควบคุมอาหาร ลดของหวาน ออกกำลังกายมากขึ้น โดยทั่วไปผลเลือดอย่างอื่นก็ไม่ได้แสดงอะไรร้ายแรงมาก ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) อาจสูงเล็กน้อย ไขมันตัวดี (HDL-c) ต่ำไปเล็กน้อย ไขมันโคเลสเตอรอล (cholesterol) สูงขึ้นเล็กน้อย (คือทุกอย่างเล็กน้อยหมด) โดยสรุป คือควบคุมอาหาร ออกกำลังกายมากขึ้น ลดอาหารหวานมัน เป็นต้น ติดตามการตรวจสุขภาพครั้งต่อไปอีก 1 ปี ไม่ต้องรับประทานยา

     สภาวะแบบนี้ ไม่ทราบตรงกับใครบ้าง หรือพอจะรู้สึกคุ้นๆ หรืออาจจะพอใกล้เคียงบ้างไหมครับ  โดยส่วนตัว ผมให้ความสำคัญกับสภาวะนี้มาก โดยจะอธิบายให้ทราบว่า
     1. ค่าน้ำตาลในเลือดของนาย ก. อยู่ในภาวะก่อนเบาหวาน (prediabetes) ซึ่งมีความผิดปกติในหน้าที่ของตับอ่อนเกิดขึ้นแล้ว (หน้าที่ในการหลั่งอินซูลิน คงจะได้คุยกันในเรื่องพวกนี้ลึกซื้งต่อไปเรื่อยๆ) ถึงแม้ยังไม่เป็นเบาหวาน (เพราะไม่ถึงเกณฑ์วินิจฉัยที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งขึ้นมาเอง) แต่ก็ไม่ปกติ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นเบาหวานต่อไปในอนาคต มากกว่าอุบัติการณ์เบาหวานในประชากรทั่วไป
     โอกาสเป็นเบาหวานในอนาคตมากแค่ไหน ตัวเลขคงตอบได้ยาก  CDC (Centers for Disease Control and Prevention) ของอเมริกา ได้ระบุว่า 15-30% ของภาวะก่อนเบาหวาน มีโอกาสเป็นเบาหวานในอีก 5 ปีข้างหน้า
     2. นาย ก. มีโอกาสเป็นเบาหวานแฝง ถ้านำมาทดสอบความทนต่อกลูโคส 75 กรัม และน้ำตาลในเลือดหลังดื่มกลูโคส 2 ชั่วโมงได้มากกว่า 200 มก/ดล. หรือถ้าตรวจฮีโมโกลบินเอวันซีด้วย และได้ค่าเท่ากับหรือมากกว่า 6.5% นั่นหมายความว่า นาย ก. เป็นเบาหวานแล้ว น้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารที่ตรวจได้ 108 มก/ดล. ไม่ได้หมายความว่า นาย ก. ไม่เป็นเบาหวาน แต่จริงๆ นาย ก. อาจจะเป็นเบาหวานแฝงอยู่ โดยที่ตรวจไม่พบด้วยการตรวจเพียงค่าเดียว แล้วถ้านาย ก. ชะล่าใจ คิดว่า ตัวเองไม่เป็นเบาหวาน (แพทย์บอก) ไม่ได้รักษา ไมได้ดูแลตัวเองให้ถูกต้อง นาย ก. อาจจะมารู้ว่าตัวเองเป็นเบาหวาน เมื่อเกิดโรคแทรกซ้อนแล้ว
     3. ถ้านาย ก. อ้วนด้วย และมีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานเพียบ เมื่อประกอบกับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง ไขมันตัวดี (เอชดีแอล) ต่ำ ลักษณะเหล่านี้ เข้าได้กับภาวะกลุ่มอาการเมตะบอลิค (metabolic syndrome)  กลุ่มอาการนี้ หมายถึงการที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายตัว เช่น อ้วน ความผิดปกติของไขมันในเลือด ความดันโลหิตสูง ความผิดปกติของน้ำตาล เป็นต้น เกิดขึ้นพร้อมกันในคนเดียวกัน ที่มากกว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ในทางสถิติ  ผู้ที่เป็นกลุ่มอาการนี้ มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับหลอดเลือดได้สูงขึ้น เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาต เป็นต้น รวมทั้งโอกาสเป็นเบาหวานสูงขึ้นด้วย (ถ้ายังไม่เป็น)
     ผู้ที่อยู่ในภาวะก่อนเบาหวานจึงถือเป็นเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด และอัมพาตด้วยเช่นกัน ถือว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าประชากรทั่วไป ที่ไม่ได้อยู่ในภาวะนี้ แม้ว่ายังไม่เป็นเบาหวานเต็มตัว

     ถึงตอนนี้แล้ว ลองคิดแทนนาย ก. ด้วยว่า นาย ก. ยังภูมิใจที่มีสุขภาพแข็งแรงหรือไม่  สภาวะสุขภาพที่แท้จริงของนาย ก. เป็นอย่างไร 

     แล้วนาย ก. ควรต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หรือมียารับประทานหรือไม่

     ดูเหมือนว่า คำแนะนำคงคล้ายคลึงกัน คือควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก (ถ้าอ้วน) แต่โดยรายละเอียด คงต้องมุ่งเน้นย้ำไปที่เป้าหมายว่า ทำเพื่ออะไร

     ภาวะก่อนเบาหวาน ถ้าสามารถควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ลดน้ำหนักให้ได้ประมาณ 5-7% ของน้ำหนักตัวเดิม สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดเบาหวานลงได้ถึง 58% โดยที่แนะนำออกกำลังกายประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์ (หรือวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์)  ท่านคิดว่า คุ้มหรือไม่

     "เป้าหมายมีไว้ทำลาย" (ขออนุญาตนำมาใช้) ถ้ามีความมุ่งมั่นตั้งใจ กระตุ้นผลักดันตัวเอง ที่จะทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงแค่ 7% ของน้ำหนักตัวเดิม แต่เพื่อความสุขสมบูรณ์และความยั่งยืนแห่งสุขภาพของตนเอง นั่นคือชัยขนะอันยิ่งใหญ่ และความภาคภูมิใจ ที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้

     พร้อมด้วยสุขภาพแข็งแรงที่ปราศจากโรค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น