วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) ตอนที่ 2

     ก่อนที่จะพูดถึงเนื้อหาที่ตั้งใจจะกล่าวถึงต่อไป บังเอิญมีคำถามมาในไลน์ของผมว่า HbA1c มาจากไหน ก็จะขออนุญาตนำมาตอบในที่นี้ ซึ่งอาจจะค่อนข้างเข้าใจยากสักหน่อย
     ในบล็อกที่แล้ว ผมกล่าวถึงว่า ฮีโมโกลบิน (ต่อไปขอใช้ตัวย่อว่า Hb) เป็นโปรตีนที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง ที่มีหน้าที่นำออกซิเจนไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆ  Hb ในคน โดยทั่วไป จะมีอยู่ 3 ประเภทคือ HbA ซึ่งมีมากที่สุดถึง 97%, HbA2 มี 2.5% และ HbF ที่มีเพียง 0.5%  HbA เมื่อเอามาแยกด้วยกระแสไฟฟ้า (hemoglobin electrophoresis) จะมีส่วนหนึ่งประมาณ 6% ที่วิ่งได้เร็วกว่าส่วนอื่น ส่วนนี้เราเรียกว่า HbA1 ใน HbA1 นี้ยังแยกออกได้อีกหลายส่วนได้แก่ HbA1a1, HbA1a2, HbA1b, และ HbA1c  ส่วนที่มากที่สุดคือ HbA1c ซึ่งมีประมาณ 80% ของ HbA1 หรือประมาณ 5% ของ HbA ทั้งหมด (งงหรือยัง)  น้ำตาลที่จับเกาะกับ Hb ส่วนต่างๆเหล่านี้จะอยู่ในรูปต่างกันไป ไม่ใช่กลูโคส แต่ตัวกลูโคสเองจะจับกับ HbA1c  ดังนั้น HbA1c จึงมีการศึกษาค้นคว้าทางห้องปฏิบัติการมากที่สุด
     คงเป็นคำตอบที่พยายามให้สั้นและง่ายที่สุด

     มากล่าวถึง HbA1c ทางด้านเบาหวานต่อ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ขอสมมติว่า นาย ข. ไปตรวจเลือดมา พบว่า น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารได้ 97 มก/ดล. (ปกติ 70-99 มก/ดล.) ค่า HbA1c 5.6% ( ค่าปกติ 4-6%) บอกได้ว่า ค่าน้ำตาลในเลือด 97 มก/ดล. เป็นค่าของน้ำตาล ณ เวลาที่เจาะเลือด แต่ HbA1c เป็นค่าที่สะท้อนถึงน้ำตาลในเลือดเฉลี่ยตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาของนายข. คือ 5.6% แล้วจะช่วยบอกอะไรได้บ้าง เพราะเป็นคนละหน่วย และที่มาของน้ำตาลก็ต่างกัน

     มีการศึกษา และคำนวณสูตรออกมา แปลงค่า HbA1c เป็นค่าของน้ำตาลในเลือด ซึ่งเรียกว่า ค่าเฉลี่ยน้ำตาลในเลือด (estimated average glucose - eAG) ดังนี้คือ

                                     eAG     =      28.7 x A1c - 46.7     (มก/ดล.)

     เพราะฉะนั้น HbA1c 5.6% เท่ากับค่าน้ำตาลเฉลี่ย (eAG) 114 มก/ดล. นั่นแสดงว่าน้ำตาลในเลือดของนายข.ที่ขึ้นๆลงๆตลอด 3 เดือนที่ผ่านมานั้น ถ้ามาคำนวณค่าเฉลี่ยจะได้ 114 มก/ดล.  ซึ่งจากการศึกษาพบว่า 50% ของค่า A1c สะสมมาจากน้ำตาลในเลือดเดือนแรก และที่เหลือ 25% มาจากน้ำตาลในเลือดเดือนที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
     ย้อนกลับในบล็อกแรก "เมื่อไหร่เป็นเบาหวาน" ถ้ายังจำได้ น้ำตาลในเลือด ณ เวลาใดก็ตามที่สูงมากกว่า 200 มก/ดล. ร่วมกับอาการของเบาหวาน วินิจฉัยได้ว่า เป็นเบาหวาน หรือถ้าสูงมากๆ ก็บอกได้เลยว่าเป็นเบาหวาน น้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น ทั้งก่อนอาหารและหลังอาหาร จะทำให้ HbA1c สูงขึ้นด้วย การวิจัย และการศึกษาในช่วงหลัง ได้มีการใช้ HbA1c เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยเบาหวาน โดยตัดเกณฑ์ที่ 6.5% (eAG = 140 มก/ดล.) และค่า HbA1c ที่อยู่ระหว่าง 5.7-6.4% (eAG 117-137 มก/ดล.) ถือว่าเป็นภาวะก่อนเบาหวาน (prediabetes)
     การตรวจ HbA1c ไม่ต้องอดอาหาร จึงสามารถตรวจเมื่อไหร่ก็ได้ และความไวในการวินิจฉัย ใกล้เคียงกับการทดสอบความทนต่อน้ำตาล ด้วยการดื่มกลูโคส 75 กรัม   
     ผมขอนำตารางแสดงเทียบค่า HbA1c กับค่าน้ำตาลในเลือด มาให้ดูกันนะครับ อาจจะเป็นประโยชน์ได้ โดยเฉพาะคนที่เป็นเบาหวาน 
Slide2.jpg

     พบกันอีกครั้งในบล็อกต่อไป
     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น