วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ครอบครัวผูกพัน.....คุ้มกันเบาหวาน ตอนที่ 2

ครอบครัวผูกพัน.....คุ้มกันเบาหวาน ตอนที่ 2

ความสัมพันธ์ของครอบครัวต่อการรักษาเบาหวาน
            ครอบครัว หมายถึงสถาบันพื้นฐานของสังคมที่ประกอบด้วยสามีภรรยาและหมายความถึงลูกด้วย (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542) ความผูกพันในครอบครัว จึงเป็นความผูกพันของพ่อแม่ ลูก และพี่น้อง  เบาหวานประเภทที่ 2 พบบ่อยในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จึงเป็นลักษณะลูกๆดูแลพ่อแม่  หรือภรรยาดูแลสามี หรือกลับกัน มีน้อยรายที่เป็นแบบพ่อแม่ดูแลลูกที่เป็นเบาหวานตั้งแต่เด็ก ลักษณะแบบนี้พบในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 ที่พบในคนอายุน้อย  ในทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้จัดบิดามารดาอยู่ในทิศเบื้องหน้า หรือทิศตะวันออก (ปุรัตถิมทิศ)  บุตรธิดาพึงบำรุงบิดามารดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าดังนี้
1.          ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
2.         ช่วยทำการงานของท่าน
3.         ดำรงวงศ์สกุล
4.          ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
5.         เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
บิดามารดาย่อมอนุเคราะห์บุตรธิดา ดังนี้
1.          ห้ามปรามจากความชั่ว
2.         ให้ตั้งอยู่ในความดี
3.         ให้ศึกษาศิลปะวิทยา
4.          หาคู่ครองที่สมควรให้
5.         มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร
บิดามารดาจึงเป็นเสมือนพรหมของลูกที่ลูกจะต้องกตัญญูกตเวที ลูกที่ดีจึงควรเอาใจใส่ปรนนิบัติ บิดามารดา โดยเฉพาะถ้าเจ็บป่วยเป็นเบาหวานด้วย  การดูแลปรนนิบัติไม่ใช่ให้แต่เพียงด้านวัตถุ เช่น ค่ายา ค่ารักษา ค่าน้ำมัน อุปกรณ์ต่างๆ จัดรถ จัดคนดูแล เป็นต้น แต่ควรคำนึงถึงด้านจิตใจ เช่นการพูดคุยถามไถ่ การไปเยี่ยมบ่อยๆ การพยาบาลพ่อหรือแม่ด้วยตนเอง การพาไปโรงพยาบาล หรือพาไปรับประทานอาหาร หรือพาไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น  สิ่งประเสริฐที่สุดคือการให้ความรู้ ให้ธรรมะ ด้วยกุศโลบายต่างๆอย่างแยบยล และโน้มน้าวให้ท่านนำไปปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของท่าน
ถ้าท่านมีพ่อหรือแม่เป็นเบาหวาน ท่านจะทำอย่างไร จะเห็นว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (lifestyle) ประจำวันให้เหมาะสมกับโรคที่เป็น มีความสำคัญต่อการรักษาเบาหวาน และการป้องกันโรคแทรกซ้อน  ในผู้สูงอายุ มีปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือการรักษาเบาหวาน
1. การรับประทานอาหาร ปัจจัยหลายอย่างมีผลต่อการรับประทานอาหารในผู้สูงอายุ ตั้งแต่ ความอยากอาหารลดลง และรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ปัญหาเรื่องฟัน การกลืนไม่คล่องและสะดวกเหมือนเดิม การทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้น้อยลง ตลอดจนอัตราการเผาผลาญอาหารลดลง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มีผลต่อการรักษาด้วยอาหารในผู้ป่วยเบาหวาน
2. การขับถ่าย ผู้สูงอายุมีปัญหาด้านการขับถ่าย ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะ  ระบบ การย่อยอาหารเริ่มเสื่อมลง การเคลื่อนไหวของลำไส้ลดน้อยลง ในขณะที่กล้ามเนื้อหูรูดไม่ แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน ผู้ที่เป็นเบาหวานที่มีปัญหาเรื่องการเสื่อมของระบบประสาทอัตโนมัติมาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้ท้องอืด แน่นท้องได้ง่าย และมีอาการท้องผูกได้บ่อย หรือสลับกับท้องเสีย โดยเฉพาะตอนกลางคืน   ในเรื่องปัสสาวะ ผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง มีอาการปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะไม่พุ่ง ไม่มีแรง หรือกะปริบกะปรอยได้ อาจเกิดจากกระบังลมหย่อน และมดลูกเคลื่อนลงต่ำในผู้หญิง หรือต่อมลูกหมากโตในผู้ชาย ถ้าเป็นเบาหวานร่วมด้วย และเกิดพยาธิสภาพของระบบประสาทอัตโนมัติ จะมีอาการของระบบการขับถ่ายมากขึ้น และอาจนำไปสู่การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะอย่างรุนแรงได้  ทั้งหมดเหล่านี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และกระทบต่อการรักษาเบาหวาน
3. การนอนหลับ แบบแผนการนอนจะเปลี่ยนไป ผู้สูงอายุจะหลับยากและตื่นเร็ว  บางคนกลางคืน นอนไม่หลับ แต่หลับกลางวัน และรบกวนญาติหรือคนเฝ้า  บางคนนอนหัวค่ำและตื่นกลางดึก  บางคนนอนดึกตื่นเช้า  บางรายมีเรื่องกระทบจิตใจเล็กน้อยหรือเป็นห่วงบุตรหลาน จะนอนไม่ หลับตลอดทั้งคืน
4.  การเคลื่อนไหวลำบาก ไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวานมานาน บางราย มีปลายประสาทการทรงตัวเสื่อม ทำให้เดินสะดุดหรือเซ หกล้มได้ง่าย  บางรายประสาทอัตโนมัติที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวของหัวใจและหลอดเลือดเสื่อม ทำให้ความดันโลหิตต่ำเวลาเปลี่ยนท่า จะมีอาการหน้ามืด เวียนหัว หรือเป็นลมล้มฟาดไปได้  ปัญหาเรื่องข้อเสื่อม พบได้บ่อยมากในผู้สูงอายุ มีอาการปวดข้อ ปวดเข่า ปวดเมื่อยตามตัว  นอกจากนี้บางรายที่เคยมีแผลที่เท้า หรือเท้าผิดรูป หรือถูกตัดขา ล้วนมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวทั้งสิ้น
5. สายตา ผู้สูงอายุจะมีปัญหาเรื่องสายตา ตามัว หรือปรับโฟกัส มองตัวหนังสือที่ใกล้ และตัวเล็ก ไม่ได้ ทำให้อ่านสลากยาหรือดูเม็ดยาผิด หรืออ่านตัวเลขที่กระบอกฉีดยา (syringe) อินซูลิน หรือปากกาฉีดอินซูลินไม่ชัด  ผู้ป่วยมีโอกาสหยิบยาผิด รับประทานยาผิดเวลา หรือฉีดยา มากเกินไป หรือน้อยเกินไป เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิต
6.   ภาวะหลงลืมหรือความจำเสื่อม  ผู้สูงอายุจะลืมง่ายขึ้นโดยเฉพาะเรื่องที่ผ่านมาใหม่ๆ แต่จะจำ ความหลังได้แม่นยำ  ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ดี มีโอกาสเกิดความจำเสื่อมได้เร็วขึ้น บางคนลืมไปว่า รับประทานยาแล้วหรือยัง หรือจำขนาดยาที่รับประทาน หรือยาฉีดผิด  บางคนลืมว่า รับประทานอาหารแล้วหรือไม่ ความจำเสื่อมอาจจะรุนแรงจนจำบุคคลที่ใกล้ชิดไม่ได้ จำสถานที่ไม่ได้ ออกจากบ้านแล้วกลับไม่ถูก ทำให้เป็นภาระของครอบครัว  
7. ความเอาแต่ใจตัวเองและขี้งอน เหมือนที่บอกว่า ยิ่งแก่ยิ่งดื้อ เวลาอยากจะได้อะไรแล้วไม่ได้ จะโกรธ รวมถึงการรับประทานอาหาร หรือขนมที่ชอบด้วย หลายครั้งจะพยายามเอาชนะเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ
8.  ความรู้สึกว้าเหว่ ถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียว หรือความกลัวถูกทอดทิ้งนำไปสู่ปัญหาหลายอย่าง เช่น ความเครียดความน้อยใจ ภาวะซึมเศร้า ภาวะทุพโภชนาการ การปฏิเสธการรักษา การทรมานตนเอง และอื่นๆ
9. ภาวะซึมเศร้าเป็นอารมณ์แปรปรวนที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวาน  เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ไม่ต้องการ เช่น การเกิดโรคแทรกซ้อนของเบาหวาน หรือตรวจพบโรคอื่นร่วมด้วย การเพิ่มยารักษา หรือต้องฉีดยาอินซูลิน เป็นต้น รวมทั้งความรู้สึกสูญเสียต่างๆ เช่น ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ สูญเสียฐานะทางการเงิน หรือความล้มเหลวทางสังคม เป็นต้น
การดูแลผู้ป่วยเบาหวานคงเป็นภาระที่หนักมาก  ถ้าคิดเช่นนั้นก็คงเกิดความท้อใจ หมดแรง และ เบื่อหน่าย  ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ช่วยตัวเองได้ดี มีส่วนน้อยที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้  ผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้ดีก็ไม่เป็นภาระมาก  ครอบครัวมีส่วนในการให้กำลังใจ ส่งเสริมความรู้ และช่วยปรับวิถีชีวิตประจำวันให้เหมาะสม  ถ้าจะแบ่งขั้นผู้ป่วยในเรื่องการช่วยเหลือตัวเอง พอจะแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ
1.  ช่วยเหลือตัวเองได้ดี 100% หรือเกือบ 100% ซึ่งสามารถดูแลตนเองได้ แม้กระทั่งการเดินทางไปโรงพยาบาลเอง อาจต้องการเพียงแค่เพื่อนร่วมเดินทางเท่านั้น ในกลุ่มนี้ไม่ต้องการการดูแลมาก อาจจะประมาณ 0-20%
2.   พอช่วยเหลือตัวเองได้ในกิจวัตรประจำวัน เช่นการรับประทานอาหาร การเข้าห้องน้ำห้องส้วม การเคลื่อนไหวที่แม้จะช้าลง หรือไม่ค่อยมีแรง แต่ก็พอทำเองได้ หรืออาจจะมีไม้เท้าช่วยบ้าง เป็นต้น  ครอบครัวมีส่วนช่วยเหลือในเรื่องการจัดอาหาร การจัดยา และคอยดูแลเพื่อป้องกัน การหกล้ม  การดูแลอาจจะมากขึ้นประมาณ 30-50% เมื่อเทียบกับกลุ่ม 1
3. ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง ลุกเดินเหินลำบาก แม้พอเดินได้บ้าง แต่ต้องมีคนคอยพยุง หรือคอยจับด้านข้าง รับประทานอาหารเองได้ แต่ควบคุมการเคลื่อนไหวลำบากขึ้น ทำให้มีอาหารร่วงหล่น อาบน้ำเองได้ ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะเองได้ แต่ต้องมีคนคอยพยุงช่วยเหลือ และไม่ใส่กลอนประตูห้องน้ำ ความจำยังดี พูดคุยรู้เรื่อง อาจหลงลืมบ้าง ครอบครัวต้องช่วยเหลือในการจัดอาหาร จัดยา และการเคลื่อนไหว ไม่สมควรปล่อยอยู่คนเดียว เพราะมีโอกาสหกล้มได้  การดูแลต้องการมากขึ้นประมาณ 60-80%  เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ 1
4.      ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอด (bed-ridden) อาจจะรู้ตัว พอพูดได้ หรือฟังได้แต่พูดไม่ได้ หรือพูดไม่ได้ หรือไม่รู้สึกตัวเลย  การให้อาหารอาจจะพอป้อนได้บ้าง หรือต้องให้อาหารทางสายยาง  อุจจาระ-ปัสสาวะอยู่บนเตียงโดยใช้ผ้าอ้อม หรือต้องใส่สายสวนปัสสาวะ  ครอบครัวต้องทำให้ทุกอย่าง  ต้องการการดูแลเทียบเท่ากับ 100%
ครอบครัวควรจะทำอย่างไรในการดูแลคนที่เรารักที่เป็นเบาหวาน  ความเป็นอยู่ในครอบครัวมีการใช้ชีวิตร่วมกันหลายอย่าง เช่นการรับประทานอาหาร การพักผ่อน ดูหนังฟังเพลง การเล่นกีฬา เป็นต้น  ถ้ามีแต่ใจและการกระทำ สิ่งที่พยายามดูแล และปรนนิบัติอาจกลายเป็นผลร้าย หรือเกิดโทษอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์  คนในครอบครัวจะเตรียมตัวหรือปฏิบัติอย่างไรบ้างในการช่วยเหลือหรือดูแลผู้ป่วยเบาหวานในครอบครัว
1.     ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ไม่ว่าจากการถาม การเข้าอบรมสัมมนา จากแผ่นพับ หนังสือ หรือเอกสารต่างๆ รวมทั้งอินเตอร์เน็ท ยิ่งศึกษาและมีความเข้าใจมากขึ้น โอกาสที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ยิ่งมากขึ้น  เรื่องที่น่ารู้มีอะไรบ้าง
-        ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคเบาหวานและการดำเนินโรค
-       โรคแทรกซ้อนมีอะไรบ้าง
-       ปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับหลอดเลือดแข็ง และที่กระตุ้นให้เกิดโรคแทรกซ้อนเร็วขึ้น
-       เป้าหมายของการรักษา
-        ความรู้และการใช้ยาที่ใช้รักษา
-        ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
-  ความรู้เรื่องอาหาร เช่น ความต้องการแคลอรี่ต่อวัน การเลือกประเภทอาหาร การแลกเปลี่ยนสารอาหาร การจัดมื้ออาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก หรือให้สัมพันธ์กับการออกฤทธิ์ของยา ความสม่ำเสมอของการรับประทานอาหาร เป็นต้น
-       ความรู้เรื่องการออกกำลังกาย การจับชีพจร การประเมินความแรงของการออกกำลังกาย ชีพจรสูงสุดของแต่ละคนในขณะออกกำลังกาย การอุ่นร่างกาย การออกกำลังกายแบบแอโรบิค การออกกำลังกายแบบต้านแรงโน้มถ่วง การทำให้ร่างกายเย็นลง ภาวะใดที่ไม่สมควรออกกำลังกาย เป็นต้น
-       การดูแลขณะเจ็บป่วย เช่น เป็นไข้ ท้องเสีย เป็นแผล เป็นต้น
-       การเจาะตรวจน้ำตาลปลายนิ้วเองที่บ้าน ตลอดจนการแปลผล
-       การฉีดยาอินซูลินด้วยตนเอง
2.  พยายามให้ความรู้อย่างแยบยล โดยไม่ใช่เป็นการสอน แต่หาวิธีการต่างๆ หลากหลายที่จะให้ผู้ป่วยสนใจ รับรู้ คล้อยตาม และลงมือปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการชวนเข้าฟังการอบรม หรือสัมมนาในที่ต่างๆ การพูดคุยสอดแทรกความรู้ การให้เห็นตัวอย่างของโรคแทรกซ้อน การให้ความรู้ในทางปฏิบัติ เช่น การเลือกอาหารและการจัดอาหารให้เป็นมื้อ การชวนออกกำลังกาย เป็นต้น ตลอดจน การจัดยาหรืออธิบายการใช้ยาให้ถูกต้อง  การจัดระบบความเป็นอยู่ให้เหมาะสม สอดคล้องกับโรคที่เป็น มีส่วนสำคัญมากที่ทำให้เกิดผลดีต่อการรักษา
3.   การไม่กระทำในสิ่งที่ชักจูงหรือทำให้โรครักษายากขึ้น เช่น การซื้อขนมหวานมาฝาก หรือเก็บไว้ที่บ้านประจำ การรับประทานอาหารที่ไม่เป็นเวลา หรือรับประทานจุบจิบ การซื้อเหล้า หรือบุหรี่มาฝากเพราะเห็นเป็นของชอบ การไม่ตรวจเช็คยา หรือแม้กระทั่งการลืมวันนัดของแพทย์จนขาดยา เป็นต้น
4. ในภาวะการณ์ที่จำเป็น การฝากดูแลในสถานพยาบาลที่ไว้ใจ และได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นแบบการไปกลับในแต่ละวัน (day care) หรือการฝากดูแลทั้งในระยะสั้น หรือระยะยาว (nursing home) อาจมีส่วนช่วยพยุง และประคับประคองให้มีสุขภาพกายและใจที่ดีต่อไปได้
5.   การให้กำลังใจ สอบถาม หรือมาเยี่ยมเยียน และหมั่นดูแลอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนจัดคนเฝ้า ในกรณีที่ต้องมีคนเฝ้าตลอดเวลา บางครั้งการให้การบริบาลเอง เช่นการทำแผลให้ การป้อน อาหารเอง การเช็ดตัวให้ เป็นต้น จะสร้างกำลังใจ ความรู้สึกที่ประทับใจ และลดความว้าเหว่ ของผู้ป่วยลงได้มาก ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด

ครอบครัวผูกพัน...คุ้มกันเบาหวาน
            ครอบครัวเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม แต่เป็นแหล่งที่สร้างรากฐาน และสายใยแห่งความรักที่ ยิ่งใหญ่ ความรักความผูกพันในครอบครัวเป็นเสมือนเกราะป้องกันภัย หรือภูมิคุ้มกันต่อสิ่งเลวร้ายภายนอก เช่น ยาเสพติด หรือโรคเอดส์  ขณะเดียวกันการเอาใจใส่ดูแลซึ่งกันและกัน ด้วยหลักวิชาการที่ถูกต้อง สามารถป้องกัน หรือยับยั้งโรคในกาย ให้คนในครอบครัวอยู่อย่างเป็นสุขตลอดไป  ครอบครัวผูกพันจึงช่วยคุ้มกันเบาหวานได้
1.   บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อเบาหวาน เช่น มีประวัติเบาหวานในครอบครัว อ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น หากควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย สม่ำเสมอและลดน้ำหนักได้ระดับหนึ่ง สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดเบาหวานได้ถึงประมาณ ครึ่งหนึ่ง  การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามครรลองดังกล่าว ช่วยลดการเกิดเบาหวานในครอบครัวได้  ครอบครัวผูกพันจึงช่วยป้องกันเบาหวาน
2. ผู้ที่เป็นเบาหวานแล้ว ความรักความผูกพันในครอบครัวที่นำไปสู่การปฏิบัติที่ดีต่อการรักษา ย่อมนำมาซึ่งความสุขในชีวิตของผู้ป่วย เสมือนอยู่อย่างสบายสบายกับโรคเบาหวาน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การป้องกันโรคแทรกซ้อนไม่ให้เกิดขึ้น ตลอดจนการสืบค้นและรักษาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ  ครอบครัวจึงช่วยกันคุ้มกันเบาหวานให้ปลอดจากโรคแทรกซ้อน
3.  ผู้ที่เป็นเบาหวานและมีโรคแทรกซ้อนแล้ว ต้องทุกข์ทรมานกับโรคแทรกซ้อนที่เป็น สิ่งสำคัญ คือโรคแทรกซ้อนนั้นรักษาไม่หายขาด อาจบรรเทาลงได้บ้าง หรืออาจทรงกับทรุดไปเรื่อยๆ  ครอบครัวมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการให้กำลังใจ ไม่ท้อถอย ดูแลไม่ให้โรคทรุดหนักลงไปอีก เน้นให้เห็นคุณค่าของชีวิตที่ยังมีอยู่ เพื่อประคับประคองให้อยู่อย่างเป็นสุข และอยู่เป็นหลัก เสมือนเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร และเป็นศูนย์กลางของลูกหลานให้นานที่สุด  ยิ่งอยู่นานเท่าไหร่ นั่นคือ กำไรของชีวิต  ครอบครัวผูกพันจึงช่วยคุ้มกันเบาหวานให้อยู่ด้วยจิตใจที่เป็นสุข

สรุป
            เมื่อมีคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน ไม่ว่าเป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง หรือลูกหลานก็ตาม ครอบครัวมีบทบาทสำคัญที่มีส่วนช่วยในการรักษา และควบคุมเบาหวานให้ได้ผลดีตามเป้าหมาย  ผู้ป่วยเป็นบุคคลสำคัญที่สุดต่อการรักษาเบาหวาน  แพทย์เป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำและรักษา ซึ่งเวลาพบแพทย์มีเพียงไม่กี่นาที  แต่ผู้ป่วยจะต้องอยู่กับโรคเบาหวานตลอดไป  ครอบครัวจึงเป็นอีกสิ่งแวดล้อม ที่มีเวลาอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้มาก และมีผลอย่างสูงที่จะทำให้โรครักษาได้ดีขึ้นหรือเลวลง
            หากเปรียบพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลก เพื่อให้ชาวโลกได้ทำบุญกุศล  บิดามารดาก็เปรียบเสมือนเป็นเนื้อนาบุญของลูก โดยเฉพาะลูกที่ได้ตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ ด้วยการดูแลท่านยามแก่ชรา หรือเจ็บไข้ได้ป่วย  ลูกอาจจะแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ด้วยการเลี้ยงดู ให้เงินทอง เครื่องนุ่งห่ม จัดหาคนดูแล เป็นต้น  ในอีกระดับหนึ่ง คือการให้ทางด้านจิตใจ  พ่อแม่บางคนอาจต้องการความชื่นชมด้านจิตใจมากกว่าวัตถุ  อย่างไรก็ตาม การให้ที่ยิ่งใหญ่คือการให้ความรู้ ให้ธรรมะ ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ท่านได้ปฏิบัติ และเกิดความสุข ทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของท่าน เพื่อประโยชน์ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต


==============================




วันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ครอบครัวผูกพัน....คุ้มกันเบาหวาน

ครอบครัวผูกพัน....คุ้มกันเบาหวาน

นายแพทย์ธวัชชัย ภาสุรกุล

            โดยธรรมชาติและสังคม มนุษย์จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม  วัฏจักรของมนุษย์คือการอยู่กันเป็นคู่ เพื่อสร้างครอบครัวของตนเอง และมีบุตรหลานสืบทอดตระกูล  ครอบครัวจึงเป็นหน่วยของสังคมที่เล็กที่สุด  ตามประเพณีวัฒนธรรมของไทย ความสัมพันธ์ในครอบครัวและหมู่ญาติจะผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง เอาใจใส่ดูแล ซึ่งกันและกัน และเคารพในผู้อาวุโส  การดูแลเกื้อกูลในครอบครัว จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของบุคคลในครอบครัวในสังคมไทย
            เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่หายขาด และถ่ายทอดได้ทางกรรมพันธุ์ เบาหวานทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน หรือผลร้ายที่คาดคิดไม่ถึงได้หลายอย่าง  ความเป็นอยู่และกิจวัตรประจำวัน มีส่วนสำคัญต่อโรคเบาหวานอย่าง ชัดเจน ที่จะมีส่วนช่วยควบคุมโรคให้ดีขึ้น หรือทำให้เลวลง  ความเป็นอยู่และกิจวัตรประจำวัน ก็หลีกหนีไม่พ้นต่อชีวิตในครอบครัว และความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว
            ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน ไม่ว่าจะเป็นปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือ แม้กระทั่งลูก  ครอบครัว ควรมีบทบาทหรือช่วยกันอย่างไร ที่จะให้คนที่เรารักอยู่อย่างเป็นสุขที่สุด โดยไม่ให้มีโรคแทรกซ้อน

ผลกระทบของเบาหวานต่อครอบครัว
            ในครั้งแรกที่ทราบว่าตนเองเป็นเบาหวาน จะรู้สึกอย่างไร ท่านรู้จักโรคเบาหวานมากแค่ไหน ในที่นี้ พอจะสรุปภาพรวมของโรคเบาหวานได้คือ
1. เป็นโรคที่ถ่ายทอดได้ทางกรรมพันธุ์
2. พบได้ทั้งในเด็ก (เบาหวานประเภทที่ 1)  ในผู้ใหญ่ (เบาหวานประเภทที่ 2)  และในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ (เบาหวานขณะตั้งครรภ์) ในประเทศไทยส่วนใหญ่ (95%) เป็นเบาหวานประเภทที่ 2
3. เบาหวานประเภทที่ 2 เกิดจากความผิดปกติของอินซูลิน คือภาวะดื้อต่ออินซูลิน ร่วมกับการสร้างอินซูลินไม่เพียงพอ
4. น้ำตาลในเลือด (ขณะอดอาหาร และ/หรือ หลังอาหาร) สูงเกินปกติ (hyperglycemia)
5. อาการของเบาหวานที่พบได้คือ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย หิวบ่อย น้ำหนักลด อ่อนเพลีย   เบาหวานประเภทที่ 2 อาจมีอาการไม่มาก หรือไม่มีอาการก็ได้
6. การรักษาเบาหวานประกอบด้วย การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ยา
7. เบาหวานรักษาไม่หายขาด แต่ควบคุมให้อยู่ในภาวะปกติหรือใกล้เคียงปกติได้  ถ้ารักษาไม่ดี หรือไม่ได้รักษา ความยืนยาวของชีวิตจะสั้นกว่าผู้ที่ไม่เป็น
8. ภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันของเบาหวานคือ ภาวะกรดเกินจากการคั่งของกรดคีโตน และภาวะ เลือดข้นเกินจากน้ำตาลในเลือดสูงมาก เกิดขึ้นได้ในผู้ที่ควบคุมเบาหวานไม่ดี และทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
9. ในระยะยาว เกิดพยาธิสภาพที่หลอดเลือดฝอยและปลายประสาท ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนระยะท้ายที่ไต ตา หรือปลายประสาท
10.เป็นปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่งของหลอดเลือดแดงตีบ ทำให้เกิดอัมพาต โรคหัวใจ หรือหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ
11. มีความสัมพันธ์กับการเกิดไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง นิ่วในถุงน้ำดี ไขมันจับเกาะที่ตับ และความอ้วน
12. มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย และรุนแรงกว่าคนปกติ รวมทั้งการเกิดแผล ฝี ที่ผิวหนังนำไปสู่การสูญเสียอวัยวะส่วนปลายได้มากขึ้น
13. มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งมีโอกาสเกิดอันตรายต่อสมอง หัวใจ หรือไม่ฟื้นอีกเลย และอาจถึงแก่ชีวิตได้
ถ้าคนที่ท่านรักได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกว่าเป็นเบาหวาน ท่านจะรู้สึกอย่างไร และจะปฏิบัติต่อเขา อย่างไร ในขณะเดียวกัน จากภาพรวมของเบาหวานข้างต้น ถ้าท่านทราบว่าตนเองเป็นเบาหวาน ท่านจะเกิดความเครียดหรือไม่  ลองประเมินดูว่า คนไข้เบาหวานมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้างเมื่อทราบว่าตนเองเป็นเบาหวาน
1.  กลัวมาก บางคนร้องห่มร้องไห้ เหมือนถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต คิดว่าชีวิตต่อไปนี้หมดแล้ว ไม่มีความสุขอีกแล้ว กลัวต้องรับประทานยา กลัวถูกฉีดยา กลัวถูกตัดขา กลัวตาบอด กลัวเป็นอัมพาต กลัวต้องล้างไต กลัว....ฯลฯ
2. ไม่ยอมรับหรือไม่เชื่อว่าตนเองเป็นจริง ถึงแม้ผลเลือดจะยืนยันกี่ครั้ง พยายามปฏิเสธตัวเอง ตลอดเวลา คิดว่าผลเลือดผิดพลาด หรือเกิดจาการรับประทานที่ไม่ดีของตนเอง ถ้าระมัด ระวังในการรับประทาน หรือรับประทานได้ถูกต้อง น้ำตาลในเลือดจะไม่ขึ้นแบบนี้ และตนเองก็คงไม่เป็นเบาหวาน
3.  กังวลว่าชีวิตต่อไปนี้ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว จะเป็นอยู่แบบที่เคยเป็นไม่ได้ ไปรับประทานอาหาร หรืองานเลี้ยงร่วมกับคนอื่น หรือเพื่อนฝูงได้ไม่เต็มที่ ความเป็นอยู่ทั้งในที่บ้าน และที่ทำงานต้องเปลี่ยนไป จะต้องเพิ่มความระมัดระวังตัวเองมากขึ้น เกิดความเครียดขึ้นมาในชีวิตประจำวัหรือโทษเป็นเรื่องเวรกรรม ทำไมต้องเป็นเรา
4.  ปิดบังความจริง กลัวคนอื่นรู้ว่าตัวเองเป็นเบาหวาน เหมือนเป็นปมด้อย กลัวถูกรังเกียจ หรือเข้าสังคมไม่ได้ คิดว่า เป็นเบาหวานแล้ว คุณค่าและคุณภาพชีวิตลดลง
5.   ยอมรับว่าเป็นเบาหวาน แต่ไม่คิดว่าจะมีความสำคัญอย่างไร เพราะไม่มีอาการอะไร เป็นก็เป็นไป ไม่เห็นเป็นอะไร ร่างกายก็ยังแข็งแรง และดูแข็งแรงกว่าคนอื่นอีก ไม่รักษาก็ไม่มีปัญหา รักษาให้ เสียเวลา เสียเงินเปล่าๆ
6. ยอมรับความจริง อาจจะคาดการณ์ไว้แล้ว หรือไม่ได้คิดมาก่อนก็ตาม  แต่เมื่อเป็นแล้ว ก็ต้อง ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ และพยายามตั้งใจรักษาให้ดีที่สุด
ผู้ที่เป็นเบาหวาน ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน ไม่ว่าจะยอมรับความจริงหรือไม่  อย่างน้อยก็เกิด แรงกดดันในจิตใจ  คนที่เป็นเบาหวานมีโอกาสเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าผู้ที่ไม่เป็น แล้วท่านคิดว่า จะมีผลกระทบต่อคนรอบข้างหรือไม่  ภาวะของโรคเบาหวานหรือโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น แบบแผนการรักษา ปฏิกิริยาทางด้านจิตใจ ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  คนรอบข้างหมายถึงพ่อ แม่ สามี ภรรยา ลูก ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหาย ผู้ร่วมงาน หรือแม้กระทั่งลูกน้อง ย่อมมีผลกระทบไม่มากก็น้อย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม  อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ใกล้ชิดที่สุด ผูกพันที่สุด หรือรักที่สุด ก็คือ พ่อ แม่ ลูก สามี ภรรยา แล้วท่านคิดว่า เบาหวานมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวหรือไม่  ลองมาพิจารณาดูว่า  เบาหวานมีผลต่อความเป็นอยู่ของชีวิตอย่างไร
1.  ผู้ที่มีอาการเบาหวานจะปัสสาวะบ่อยมาก บางครั้งอาจจะทุก 1-2 ชั่วโมง โดยเฉพาะตอนกลางคืน  เมื่อปัสสาวะบ่อย ก็จะกระหายน้ำบ่อย และดื่มน้ำมาก  อาการเหล่านี้จะรบกวนการทำงาน และความเป็นอยู่ ทำให้ไม่มีสมาธิ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และเกิดอาการอ่อนเพลียมาก ง่วงนอนบ่อย ยิ่งผู้สูงอายุที่ลุกเดินไม่ค่อยสะดวก ต้องลำบากและทนทุกข์ทรมานต่ออาการที่เป็น  บางครั้งมีปัสสาวะราดกางเกง ทำให้รู้สึกอับอาย และต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ซึ่งเป็นภาระต่อลูกหลาน  ผู้ที่มีอาการปัสสาวะบ่อย หลายคนจะหิวบ่อยด้วย เนื่องจากสูญเสียพลังงาน (น้ำตาล) ออกทางปัสสาวะ จึงต้องหาของรับประทานอยู่ตลอดเวลา บางคนอาจจะเบื่ออาหาร มีภาวะขาดน้ำ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย รู้สึกขาดพลังงาน ไม่อยากหรือไม่สามารถทำงาน หรือประกอบกิจวัตรประจำวันได้  สิ่งเหล่านี้ มีผลกระทบต่อคนในครอบครัว และเป็นภาระของลูกหลาน ที่จะต้องคอยดูแล ปรนนิบัติแล้วแต่กรณี  บางคนที่น้ำหนักลดมาก ญาติอาจห่วงใยและกังวล คิดว่าเป็นมะเร็ง หรือเป็นเอดส์ไปก็มี
2. ผู้ป่วยเบาหวานหลายคนมีนิสัยในการรับประทานไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ที่หิวบ่อย จะรับประทานบ่อย ตามใจปาก ไม่ตรงตามเวลา รับประทานจุบจิบ และชอบของหวาน  แม้กระทั่งเมื่อรักษาแล้ว บริโภคนิสัยนี้ก็เปลี่ยนได้ยาก ทำให้มีความลำบากในการเตรียมอาหาร ต้อง หาซื้ออาหารมาเก็บตุนไว้ เป็นภาระและสิ้นเปลืองต่อครอบครัว  ผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นเบาหวานหลายคน พบภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) ได้บ่อย ไม่ว่าจะเป็นโภชนาการเกินหรืออ้วน (overnutrition or obesity) หรือภาวะขาดอาหาร (undernutrition)
3. การรักษาเบาหวานต้องควบคุมอาหาร เน้นการเลือกประเภทอาหาร ปริมาณอาหารตามแคลอรี่ที่ควรได้รับ สารอาหารแลกเปลี่ยน การแบ่งมื้ออาหาร และความสม่ำเสมอของเวลา อาจสร้างความอึดอัดแก่สมาชิกครอบครัว ที่ขาดความอิสระที่จะรับประทานอาหารตามต้องการ และอาจเกิดความขัดแย้งลึกๆภายใน หรือผู้ป่วยเบาหวานอาจเกิดความเกรงใจ ไม่ยอมเคร่งครัดในการควบคุมอาหารที่ถูกต้อง ร่วมรับประทานตามคนที่ไม่เป็น ก็จะเกิดปัญหาที่ควบคุมเบาหวานไม่ได้ตามเป้าหมาย
4. การรักษาด้วยการรับประทานยาลดน้ำตาลในเลือดมีหลายประเภท และวิธีการบริหารยาแต่ละอย่างก็ไม่เหมือนกัน  ซึ่งมีรับประทานก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง รับประทานก่อนอาหารทันที หรือ พร้อมอาหารคำแรก หรือหลังอาหารทันที ยาร่วมรักษาอื่นๆอาจรับประทานเฉพาะหลังอาหารเย็น หรือก่อนนอน จำนวนครั้งก็แตกต่างกัน เช่นวันละครั้งบ้าง  2 ครั้งบ้าง หรือ 3 ครั้งบ้าง บางคนรับประทานยาครั้งละหลายอย่างพร้อมกัน  ถ้ารักษาด้วยยาฉีดอินซูลิน อาจจะฉีดครั้งเดียว ก่อนนอนประมาณ 4 ทุ่ม  หรือฉีดวันละ 2 ครั้งก่อนอาหารเช้าและเย็น  บางคนอาจฉีดวันละ 3 หรือ 4 ครั้ง ก่อนอาหารทุกมื้อ และก่อนนอน  การรับประทานยา หรือฉีดยาต้องสัมพันธ์กับมื้ออาหาร ยิ่งใช้ยาหลายอย่าง การบริหารยาก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น และต้องเกี่ยว ข้องกับวิถีชีวิต (life-style) ประจำวันของผู้ที่เป็นเบาหวาน
5. เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีปัญหาด้านจิตใจบ่อย โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง อาจเกิดโรคซึมเศร้า (depression) ได้ ผู้ป่วยเบาหวานหลายคนเครียดเรื่องงาน เรื่องเศรษฐกิจ ครอบครัว เป็นห่วงลูก ห่วงสุขภาพตัวเอง ห่วงอนาคตลูกหลาน เครียดเรื่องรับประทานยาหรือฉีดยา เครียดเพราะคุมน้ำตาลในเลือดไม่ได้ เครียดเมื่อถึงเวลามาหาหมอ เครียดในเรื่องรับประทานอาหาร เครียดที่ต้องปฏิบัติตนในกรอบของเวลา ฯลฯ  ถ้าพ่อ หรือแม่ที่เป็นเบาหวาน ต้องมาเครียดหรือมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้  คนในครอบครัวย่อมถูกผลกระทบด้วยแน่
6.  การรักษาเบาหวานมีค่าใช้จ่าย ยิ่งถ้ามีโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย ค่าใช้จ่ายยิ่งสูงขึ้นตามปริมาณ การรักษาที่เพิ่มขึ้น  คนที่เป็นเบาหวานที่มีโรคหัวใจแทรกซ้อน ค่าใช้จ่ายในการรักษา สูงกว่าผู้ที่เป็นโรคหัวใจแต่ไม่เป็นเบาหวานถึงสองเท่า ยิ่งเป็นเบาหวานนาน โอกาสเกิดโรคแทรก ซ้อนยิ่งมาก ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว  ภาวะการเงินเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่ง  คนไข้เบาหวานบางคนไม่ยอมรักษา ยอมทนทุกข์ทรมานต่อโรคที่เป็น ยอมให้เกิดโรคแทรกซ้อน เพราะไม่มีค่ารักษา หรือไม่ต้องการผลาญทรัพย์สินของลูกหลาน หรือต้องการเก็บเงินไว้ เพื่อประโยชน์ภายภาคหน้าของลูกหลานที่ตนรัก
7. คนไข้เบาหวานที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือมีโรคแทรกซ้อน เป็นปัญหาและภาระหนักที่สุดของ ครอบครัว  ถ้าท่านมีคนในครอบครัวมีภาวะเหล่านี้ ท่านจะทำอย่างไร
7.1 เป็นอัมพาตครึ่งซีก อาจจะรู้ตัวดี พอช่วยตัวเองได้ บางรายเดินไม่ได้ ต้องพยุงหรือนั่งรถเข็น บางคนรู้ตัว แต่พูดไม่ได้  บางคนเดินไม่ได้แต่รู้ตัว  และอีกหลายคนที่ไม่รู้ตัวและเดินไม่ได้ ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา
7.2 มีโรคหัวใจขาดเลือดแทรกซ้อน หรือมีพยาธิสภาพที่กล้ามเนื้อหัวใจ บางครั้งมีหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย  บางรายหัวใจเต้นผิดปกติต้องรับประทานยาควบคุมการเต้นหัวใจ บางรายต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ  อาจมีอาการเหนื่อยง่าย เวียนหัว หน้ามืด เป็นลม เจ็บหน้าอก ไม่มีแรง หรือบวมเป็นๆหายๆ  รายที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวมาก จะมีอาการเหนื่อยตลอดเวลา  ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องจำกัดเกลือ ลดอาหารเค็ม  นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นแบบกะทันหันได้ ซึ่งไม่ควรให้เกิดความเครียดขึ้น
7.3 ตามัว มองไม่ชัด ปวดตาจากแรงดันในลูกตาสูงขึ้น ในรายที่เป็นมาก ทำให้ตาบอดได้ และเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้คนไข้เบาหวานต้องตกอยู่ในโลกของความมืดมิด ขาดสีสันแห่งความสวยงาม  และขาดคุณภาพชีวิต
7.4  ไตวายเรื้อรัง  มีอาการบวม ซีด คลื่นไส้อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ อ่อนเพลีย เหนื่อย ง่าย ไม่มีแรง เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ง่าย ภาวะไตวายจะดำเนินโรคไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นสุดท้าย และเสียชีวิตในที่สุด  การรักษาประคับประคองคือการฟอกเลือด (hemodialysis) ที่ต้องทำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือการล้างไตทางหน้าท้อง (peritoneal dialysis) ทุกวัน ตลอดไป ซึ่งต้องเป็นภาระต่อครอบครัว ทั้งการดูแล เวลา และค่าใช้จ่าย
7.5   มีอาการของปลายประสาทอักเสบ ซึ่งมีความหลากหลายของอาการได้หลายอย่าง  ที่พบได้บ่อยคืออาการชาที่ปลายเท้า และชามากจนไม่รู้สึก แม้กระทั่งเหยียบก้อนถ่านแดงก็ไม่รู้สึกร้อน หรือเหยียบถูกตะปูก็ไม่รู้สึกเจ็บ ทำให้มีโอกาสเกิดแผลได้ง่าย และถ้าเกิดติดชื้อลุกลาม ลึกถึงกระดูก รักษายากและนาน มีโอกาสถูกตัดเท้าสูง  เบาหวานจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดทุพพลภาพ ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง และช่วยตัวเองลำบาก นอกจากอาการชาแล้ว มีอาการอื่นๆ ที่เท้าอีก เช่น รู้สึกมีอาการซ่าๆคล้ายฝ่าเท้าไม่สะอาด ปวดแสบปวดร้อน ปวดกระตุกเป็นพัก โดยเฉพาะตอนกลางคืน และทำให้คนไข้ทุกข์ทรมาน เพราะอาการปวด และนอนไม่หลับ  ปลายประสาทอักเสบจากเบาหวาน ไม่ได้เป็นเฉพาะปลายประสาทที่รับความรู้สึกเจ็บปวดเท่านั้น  ยังเกิดขึ้นได้กับปลายประสาทคู่ที่ออกจากสมอง และปลายประสาทอัตโนมัติ ทำให้เกิดอาการต่างๆได้หลายอย่าง เช่น หนังตาตกข้างใดข้างหนึ่ง ปากเบี้ยวข้างใดข้างหนึ่ง ความดันโลหิตตกเวลาเปลี่ยนท่า ทำให้เวียนหัว หน้ามืด  ถ้ากระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ ทำให้ปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะบ่อย มีปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะ และมีโอกาสติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย อาการแปรปรวนจากการเคลื่อนไหวของลำไส้ผิดปกติ ทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูกสลับกับท้องเสีย  และอาการอื่นๆอีกมากมาย
           สิ่งต่างๆดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่พยายามให้เห็นภาพของเบาหวาน ที่กระทบ ต่อครอบครัว จะเห็นได้ว่าเบาหวานมีผลต่อความเป็นอยู่ การทำงาน และชีวิตในครอบครัวอย่างชัดเจน  เมื่อเป็นเบาหวาน สิ่งแวดล้อมรอบตัวย่อมเปลี่ยนแปลงไป จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และภาวะแทรกซ้อน  ครอบครัวจึงเป็นส่วนสำคัญที่สุด ที่มีผลช่วยเหลือต่อการปฏิบัติตัวของคนไข้ ให้การรักษา เบาหวานเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ

              (ติดตาม "ครอบครัวผูกพัน.....คุ้มกันเบาหวาน" ต่อตอนที่ 2 ด้วยครับ)