วันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ครอบครัวผูกพัน....คุ้มกันเบาหวาน

ครอบครัวผูกพัน....คุ้มกันเบาหวาน

นายแพทย์ธวัชชัย ภาสุรกุล

            โดยธรรมชาติและสังคม มนุษย์จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม  วัฏจักรของมนุษย์คือการอยู่กันเป็นคู่ เพื่อสร้างครอบครัวของตนเอง และมีบุตรหลานสืบทอดตระกูล  ครอบครัวจึงเป็นหน่วยของสังคมที่เล็กที่สุด  ตามประเพณีวัฒนธรรมของไทย ความสัมพันธ์ในครอบครัวและหมู่ญาติจะผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง เอาใจใส่ดูแล ซึ่งกันและกัน และเคารพในผู้อาวุโส  การดูแลเกื้อกูลในครอบครัว จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของบุคคลในครอบครัวในสังคมไทย
            เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่หายขาด และถ่ายทอดได้ทางกรรมพันธุ์ เบาหวานทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน หรือผลร้ายที่คาดคิดไม่ถึงได้หลายอย่าง  ความเป็นอยู่และกิจวัตรประจำวัน มีส่วนสำคัญต่อโรคเบาหวานอย่าง ชัดเจน ที่จะมีส่วนช่วยควบคุมโรคให้ดีขึ้น หรือทำให้เลวลง  ความเป็นอยู่และกิจวัตรประจำวัน ก็หลีกหนีไม่พ้นต่อชีวิตในครอบครัว และความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว
            ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน ไม่ว่าจะเป็นปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือ แม้กระทั่งลูก  ครอบครัว ควรมีบทบาทหรือช่วยกันอย่างไร ที่จะให้คนที่เรารักอยู่อย่างเป็นสุขที่สุด โดยไม่ให้มีโรคแทรกซ้อน

ผลกระทบของเบาหวานต่อครอบครัว
            ในครั้งแรกที่ทราบว่าตนเองเป็นเบาหวาน จะรู้สึกอย่างไร ท่านรู้จักโรคเบาหวานมากแค่ไหน ในที่นี้ พอจะสรุปภาพรวมของโรคเบาหวานได้คือ
1. เป็นโรคที่ถ่ายทอดได้ทางกรรมพันธุ์
2. พบได้ทั้งในเด็ก (เบาหวานประเภทที่ 1)  ในผู้ใหญ่ (เบาหวานประเภทที่ 2)  และในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ (เบาหวานขณะตั้งครรภ์) ในประเทศไทยส่วนใหญ่ (95%) เป็นเบาหวานประเภทที่ 2
3. เบาหวานประเภทที่ 2 เกิดจากความผิดปกติของอินซูลิน คือภาวะดื้อต่ออินซูลิน ร่วมกับการสร้างอินซูลินไม่เพียงพอ
4. น้ำตาลในเลือด (ขณะอดอาหาร และ/หรือ หลังอาหาร) สูงเกินปกติ (hyperglycemia)
5. อาการของเบาหวานที่พบได้คือ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย หิวบ่อย น้ำหนักลด อ่อนเพลีย   เบาหวานประเภทที่ 2 อาจมีอาการไม่มาก หรือไม่มีอาการก็ได้
6. การรักษาเบาหวานประกอบด้วย การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ยา
7. เบาหวานรักษาไม่หายขาด แต่ควบคุมให้อยู่ในภาวะปกติหรือใกล้เคียงปกติได้  ถ้ารักษาไม่ดี หรือไม่ได้รักษา ความยืนยาวของชีวิตจะสั้นกว่าผู้ที่ไม่เป็น
8. ภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันของเบาหวานคือ ภาวะกรดเกินจากการคั่งของกรดคีโตน และภาวะ เลือดข้นเกินจากน้ำตาลในเลือดสูงมาก เกิดขึ้นได้ในผู้ที่ควบคุมเบาหวานไม่ดี และทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
9. ในระยะยาว เกิดพยาธิสภาพที่หลอดเลือดฝอยและปลายประสาท ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนระยะท้ายที่ไต ตา หรือปลายประสาท
10.เป็นปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่งของหลอดเลือดแดงตีบ ทำให้เกิดอัมพาต โรคหัวใจ หรือหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ
11. มีความสัมพันธ์กับการเกิดไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง นิ่วในถุงน้ำดี ไขมันจับเกาะที่ตับ และความอ้วน
12. มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย และรุนแรงกว่าคนปกติ รวมทั้งการเกิดแผล ฝี ที่ผิวหนังนำไปสู่การสูญเสียอวัยวะส่วนปลายได้มากขึ้น
13. มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งมีโอกาสเกิดอันตรายต่อสมอง หัวใจ หรือไม่ฟื้นอีกเลย และอาจถึงแก่ชีวิตได้
ถ้าคนที่ท่านรักได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกว่าเป็นเบาหวาน ท่านจะรู้สึกอย่างไร และจะปฏิบัติต่อเขา อย่างไร ในขณะเดียวกัน จากภาพรวมของเบาหวานข้างต้น ถ้าท่านทราบว่าตนเองเป็นเบาหวาน ท่านจะเกิดความเครียดหรือไม่  ลองประเมินดูว่า คนไข้เบาหวานมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้างเมื่อทราบว่าตนเองเป็นเบาหวาน
1.  กลัวมาก บางคนร้องห่มร้องไห้ เหมือนถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต คิดว่าชีวิตต่อไปนี้หมดแล้ว ไม่มีความสุขอีกแล้ว กลัวต้องรับประทานยา กลัวถูกฉีดยา กลัวถูกตัดขา กลัวตาบอด กลัวเป็นอัมพาต กลัวต้องล้างไต กลัว....ฯลฯ
2. ไม่ยอมรับหรือไม่เชื่อว่าตนเองเป็นจริง ถึงแม้ผลเลือดจะยืนยันกี่ครั้ง พยายามปฏิเสธตัวเอง ตลอดเวลา คิดว่าผลเลือดผิดพลาด หรือเกิดจาการรับประทานที่ไม่ดีของตนเอง ถ้าระมัด ระวังในการรับประทาน หรือรับประทานได้ถูกต้อง น้ำตาลในเลือดจะไม่ขึ้นแบบนี้ และตนเองก็คงไม่เป็นเบาหวาน
3.  กังวลว่าชีวิตต่อไปนี้ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว จะเป็นอยู่แบบที่เคยเป็นไม่ได้ ไปรับประทานอาหาร หรืองานเลี้ยงร่วมกับคนอื่น หรือเพื่อนฝูงได้ไม่เต็มที่ ความเป็นอยู่ทั้งในที่บ้าน และที่ทำงานต้องเปลี่ยนไป จะต้องเพิ่มความระมัดระวังตัวเองมากขึ้น เกิดความเครียดขึ้นมาในชีวิตประจำวัหรือโทษเป็นเรื่องเวรกรรม ทำไมต้องเป็นเรา
4.  ปิดบังความจริง กลัวคนอื่นรู้ว่าตัวเองเป็นเบาหวาน เหมือนเป็นปมด้อย กลัวถูกรังเกียจ หรือเข้าสังคมไม่ได้ คิดว่า เป็นเบาหวานแล้ว คุณค่าและคุณภาพชีวิตลดลง
5.   ยอมรับว่าเป็นเบาหวาน แต่ไม่คิดว่าจะมีความสำคัญอย่างไร เพราะไม่มีอาการอะไร เป็นก็เป็นไป ไม่เห็นเป็นอะไร ร่างกายก็ยังแข็งแรง และดูแข็งแรงกว่าคนอื่นอีก ไม่รักษาก็ไม่มีปัญหา รักษาให้ เสียเวลา เสียเงินเปล่าๆ
6. ยอมรับความจริง อาจจะคาดการณ์ไว้แล้ว หรือไม่ได้คิดมาก่อนก็ตาม  แต่เมื่อเป็นแล้ว ก็ต้อง ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ และพยายามตั้งใจรักษาให้ดีที่สุด
ผู้ที่เป็นเบาหวาน ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน ไม่ว่าจะยอมรับความจริงหรือไม่  อย่างน้อยก็เกิด แรงกดดันในจิตใจ  คนที่เป็นเบาหวานมีโอกาสเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าผู้ที่ไม่เป็น แล้วท่านคิดว่า จะมีผลกระทบต่อคนรอบข้างหรือไม่  ภาวะของโรคเบาหวานหรือโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น แบบแผนการรักษา ปฏิกิริยาทางด้านจิตใจ ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  คนรอบข้างหมายถึงพ่อ แม่ สามี ภรรยา ลูก ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหาย ผู้ร่วมงาน หรือแม้กระทั่งลูกน้อง ย่อมมีผลกระทบไม่มากก็น้อย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม  อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ใกล้ชิดที่สุด ผูกพันที่สุด หรือรักที่สุด ก็คือ พ่อ แม่ ลูก สามี ภรรยา แล้วท่านคิดว่า เบาหวานมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวหรือไม่  ลองมาพิจารณาดูว่า  เบาหวานมีผลต่อความเป็นอยู่ของชีวิตอย่างไร
1.  ผู้ที่มีอาการเบาหวานจะปัสสาวะบ่อยมาก บางครั้งอาจจะทุก 1-2 ชั่วโมง โดยเฉพาะตอนกลางคืน  เมื่อปัสสาวะบ่อย ก็จะกระหายน้ำบ่อย และดื่มน้ำมาก  อาการเหล่านี้จะรบกวนการทำงาน และความเป็นอยู่ ทำให้ไม่มีสมาธิ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และเกิดอาการอ่อนเพลียมาก ง่วงนอนบ่อย ยิ่งผู้สูงอายุที่ลุกเดินไม่ค่อยสะดวก ต้องลำบากและทนทุกข์ทรมานต่ออาการที่เป็น  บางครั้งมีปัสสาวะราดกางเกง ทำให้รู้สึกอับอาย และต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ซึ่งเป็นภาระต่อลูกหลาน  ผู้ที่มีอาการปัสสาวะบ่อย หลายคนจะหิวบ่อยด้วย เนื่องจากสูญเสียพลังงาน (น้ำตาล) ออกทางปัสสาวะ จึงต้องหาของรับประทานอยู่ตลอดเวลา บางคนอาจจะเบื่ออาหาร มีภาวะขาดน้ำ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย รู้สึกขาดพลังงาน ไม่อยากหรือไม่สามารถทำงาน หรือประกอบกิจวัตรประจำวันได้  สิ่งเหล่านี้ มีผลกระทบต่อคนในครอบครัว และเป็นภาระของลูกหลาน ที่จะต้องคอยดูแล ปรนนิบัติแล้วแต่กรณี  บางคนที่น้ำหนักลดมาก ญาติอาจห่วงใยและกังวล คิดว่าเป็นมะเร็ง หรือเป็นเอดส์ไปก็มี
2. ผู้ป่วยเบาหวานหลายคนมีนิสัยในการรับประทานไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ที่หิวบ่อย จะรับประทานบ่อย ตามใจปาก ไม่ตรงตามเวลา รับประทานจุบจิบ และชอบของหวาน  แม้กระทั่งเมื่อรักษาแล้ว บริโภคนิสัยนี้ก็เปลี่ยนได้ยาก ทำให้มีความลำบากในการเตรียมอาหาร ต้อง หาซื้ออาหารมาเก็บตุนไว้ เป็นภาระและสิ้นเปลืองต่อครอบครัว  ผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นเบาหวานหลายคน พบภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) ได้บ่อย ไม่ว่าจะเป็นโภชนาการเกินหรืออ้วน (overnutrition or obesity) หรือภาวะขาดอาหาร (undernutrition)
3. การรักษาเบาหวานต้องควบคุมอาหาร เน้นการเลือกประเภทอาหาร ปริมาณอาหารตามแคลอรี่ที่ควรได้รับ สารอาหารแลกเปลี่ยน การแบ่งมื้ออาหาร และความสม่ำเสมอของเวลา อาจสร้างความอึดอัดแก่สมาชิกครอบครัว ที่ขาดความอิสระที่จะรับประทานอาหารตามต้องการ และอาจเกิดความขัดแย้งลึกๆภายใน หรือผู้ป่วยเบาหวานอาจเกิดความเกรงใจ ไม่ยอมเคร่งครัดในการควบคุมอาหารที่ถูกต้อง ร่วมรับประทานตามคนที่ไม่เป็น ก็จะเกิดปัญหาที่ควบคุมเบาหวานไม่ได้ตามเป้าหมาย
4. การรักษาด้วยการรับประทานยาลดน้ำตาลในเลือดมีหลายประเภท และวิธีการบริหารยาแต่ละอย่างก็ไม่เหมือนกัน  ซึ่งมีรับประทานก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง รับประทานก่อนอาหารทันที หรือ พร้อมอาหารคำแรก หรือหลังอาหารทันที ยาร่วมรักษาอื่นๆอาจรับประทานเฉพาะหลังอาหารเย็น หรือก่อนนอน จำนวนครั้งก็แตกต่างกัน เช่นวันละครั้งบ้าง  2 ครั้งบ้าง หรือ 3 ครั้งบ้าง บางคนรับประทานยาครั้งละหลายอย่างพร้อมกัน  ถ้ารักษาด้วยยาฉีดอินซูลิน อาจจะฉีดครั้งเดียว ก่อนนอนประมาณ 4 ทุ่ม  หรือฉีดวันละ 2 ครั้งก่อนอาหารเช้าและเย็น  บางคนอาจฉีดวันละ 3 หรือ 4 ครั้ง ก่อนอาหารทุกมื้อ และก่อนนอน  การรับประทานยา หรือฉีดยาต้องสัมพันธ์กับมื้ออาหาร ยิ่งใช้ยาหลายอย่าง การบริหารยาก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น และต้องเกี่ยว ข้องกับวิถีชีวิต (life-style) ประจำวันของผู้ที่เป็นเบาหวาน
5. เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีปัญหาด้านจิตใจบ่อย โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง อาจเกิดโรคซึมเศร้า (depression) ได้ ผู้ป่วยเบาหวานหลายคนเครียดเรื่องงาน เรื่องเศรษฐกิจ ครอบครัว เป็นห่วงลูก ห่วงสุขภาพตัวเอง ห่วงอนาคตลูกหลาน เครียดเรื่องรับประทานยาหรือฉีดยา เครียดเพราะคุมน้ำตาลในเลือดไม่ได้ เครียดเมื่อถึงเวลามาหาหมอ เครียดในเรื่องรับประทานอาหาร เครียดที่ต้องปฏิบัติตนในกรอบของเวลา ฯลฯ  ถ้าพ่อ หรือแม่ที่เป็นเบาหวาน ต้องมาเครียดหรือมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้  คนในครอบครัวย่อมถูกผลกระทบด้วยแน่
6.  การรักษาเบาหวานมีค่าใช้จ่าย ยิ่งถ้ามีโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย ค่าใช้จ่ายยิ่งสูงขึ้นตามปริมาณ การรักษาที่เพิ่มขึ้น  คนที่เป็นเบาหวานที่มีโรคหัวใจแทรกซ้อน ค่าใช้จ่ายในการรักษา สูงกว่าผู้ที่เป็นโรคหัวใจแต่ไม่เป็นเบาหวานถึงสองเท่า ยิ่งเป็นเบาหวานนาน โอกาสเกิดโรคแทรก ซ้อนยิ่งมาก ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว  ภาวะการเงินเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่ง  คนไข้เบาหวานบางคนไม่ยอมรักษา ยอมทนทุกข์ทรมานต่อโรคที่เป็น ยอมให้เกิดโรคแทรกซ้อน เพราะไม่มีค่ารักษา หรือไม่ต้องการผลาญทรัพย์สินของลูกหลาน หรือต้องการเก็บเงินไว้ เพื่อประโยชน์ภายภาคหน้าของลูกหลานที่ตนรัก
7. คนไข้เบาหวานที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือมีโรคแทรกซ้อน เป็นปัญหาและภาระหนักที่สุดของ ครอบครัว  ถ้าท่านมีคนในครอบครัวมีภาวะเหล่านี้ ท่านจะทำอย่างไร
7.1 เป็นอัมพาตครึ่งซีก อาจจะรู้ตัวดี พอช่วยตัวเองได้ บางรายเดินไม่ได้ ต้องพยุงหรือนั่งรถเข็น บางคนรู้ตัว แต่พูดไม่ได้  บางคนเดินไม่ได้แต่รู้ตัว  และอีกหลายคนที่ไม่รู้ตัวและเดินไม่ได้ ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา
7.2 มีโรคหัวใจขาดเลือดแทรกซ้อน หรือมีพยาธิสภาพที่กล้ามเนื้อหัวใจ บางครั้งมีหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย  บางรายหัวใจเต้นผิดปกติต้องรับประทานยาควบคุมการเต้นหัวใจ บางรายต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ  อาจมีอาการเหนื่อยง่าย เวียนหัว หน้ามืด เป็นลม เจ็บหน้าอก ไม่มีแรง หรือบวมเป็นๆหายๆ  รายที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวมาก จะมีอาการเหนื่อยตลอดเวลา  ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องจำกัดเกลือ ลดอาหารเค็ม  นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นแบบกะทันหันได้ ซึ่งไม่ควรให้เกิดความเครียดขึ้น
7.3 ตามัว มองไม่ชัด ปวดตาจากแรงดันในลูกตาสูงขึ้น ในรายที่เป็นมาก ทำให้ตาบอดได้ และเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้คนไข้เบาหวานต้องตกอยู่ในโลกของความมืดมิด ขาดสีสันแห่งความสวยงาม  และขาดคุณภาพชีวิต
7.4  ไตวายเรื้อรัง  มีอาการบวม ซีด คลื่นไส้อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ อ่อนเพลีย เหนื่อย ง่าย ไม่มีแรง เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ง่าย ภาวะไตวายจะดำเนินโรคไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นสุดท้าย และเสียชีวิตในที่สุด  การรักษาประคับประคองคือการฟอกเลือด (hemodialysis) ที่ต้องทำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือการล้างไตทางหน้าท้อง (peritoneal dialysis) ทุกวัน ตลอดไป ซึ่งต้องเป็นภาระต่อครอบครัว ทั้งการดูแล เวลา และค่าใช้จ่าย
7.5   มีอาการของปลายประสาทอักเสบ ซึ่งมีความหลากหลายของอาการได้หลายอย่าง  ที่พบได้บ่อยคืออาการชาที่ปลายเท้า และชามากจนไม่รู้สึก แม้กระทั่งเหยียบก้อนถ่านแดงก็ไม่รู้สึกร้อน หรือเหยียบถูกตะปูก็ไม่รู้สึกเจ็บ ทำให้มีโอกาสเกิดแผลได้ง่าย และถ้าเกิดติดชื้อลุกลาม ลึกถึงกระดูก รักษายากและนาน มีโอกาสถูกตัดเท้าสูง  เบาหวานจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดทุพพลภาพ ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง และช่วยตัวเองลำบาก นอกจากอาการชาแล้ว มีอาการอื่นๆ ที่เท้าอีก เช่น รู้สึกมีอาการซ่าๆคล้ายฝ่าเท้าไม่สะอาด ปวดแสบปวดร้อน ปวดกระตุกเป็นพัก โดยเฉพาะตอนกลางคืน และทำให้คนไข้ทุกข์ทรมาน เพราะอาการปวด และนอนไม่หลับ  ปลายประสาทอักเสบจากเบาหวาน ไม่ได้เป็นเฉพาะปลายประสาทที่รับความรู้สึกเจ็บปวดเท่านั้น  ยังเกิดขึ้นได้กับปลายประสาทคู่ที่ออกจากสมอง และปลายประสาทอัตโนมัติ ทำให้เกิดอาการต่างๆได้หลายอย่าง เช่น หนังตาตกข้างใดข้างหนึ่ง ปากเบี้ยวข้างใดข้างหนึ่ง ความดันโลหิตตกเวลาเปลี่ยนท่า ทำให้เวียนหัว หน้ามืด  ถ้ากระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ ทำให้ปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะบ่อย มีปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะ และมีโอกาสติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย อาการแปรปรวนจากการเคลื่อนไหวของลำไส้ผิดปกติ ทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูกสลับกับท้องเสีย  และอาการอื่นๆอีกมากมาย
           สิ่งต่างๆดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่พยายามให้เห็นภาพของเบาหวาน ที่กระทบ ต่อครอบครัว จะเห็นได้ว่าเบาหวานมีผลต่อความเป็นอยู่ การทำงาน และชีวิตในครอบครัวอย่างชัดเจน  เมื่อเป็นเบาหวาน สิ่งแวดล้อมรอบตัวย่อมเปลี่ยนแปลงไป จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และภาวะแทรกซ้อน  ครอบครัวจึงเป็นส่วนสำคัญที่สุด ที่มีผลช่วยเหลือต่อการปฏิบัติตัวของคนไข้ ให้การรักษา เบาหวานเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ

              (ติดตาม "ครอบครัวผูกพัน.....คุ้มกันเบาหวาน" ต่อตอนที่ 2 ด้วยครับ)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น