วันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

วันเบาหวานโลก 2017


                                                                                                   
                       สตรีกับเบาหวาน                                 

สหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation) ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันเบาหวานโลก” ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) วันที่ 14 พฤศจิกายน เป็นวันคล้ายวันเกิดของ Frederick Banting ผู้ค้นพบฮอร์โมนอินซูลินร่วมกับ Charles Best เมื่อปี พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1921) และทำให้ทราบว่า เบาหวานเกิดจากการขาดฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน  สหพันธ์เบาหวานนานาชาติจึงได้กำหนดให้เป็นวันเบาหวานโลก ด้วยตระหนักถึงความรุนแรงของความชุกของโรคเบาหวานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง และต้องการรณรงค์สร้างความตื่นตัวของโรคเบาหวานในประชากร หลายล้านคนมากกว่า 195 ประเทศทั่วโลก ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในคนที่เป็นและไม่เป็นเบาหวาน ในกลุ่มที่ให้บริการทางการแพทย์ และสื่อมวลชนต่างๆ  นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006) องค์การสหประชาชาติ ได้ลงมติที่ 61/225 กำหนดให้ ”เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ก่อให้เกิดความเสียหาย และความสิ้นเปลือง พร้อมด้วยโรคแทรกซ้อนที่มีผลกระทบอย่างสูง ต่อครอบครัว และประเทศชาติ ทั่วทั้งโลก วันเบาหวานโลกจึงเป็นวันสากลแห่งสหประชาชาติ ที่ให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมรณรงค์ต่อต้าน และ ส่งเสริมการป้องกัน ดูแล และรักษาโรคเบาหวาน  ในปัจจุบัน การรณรงค์เนื่องในวันเบาหวานโลก มีผู้ติดตาม รับฟังมากกว่า 1 พันล้านคนใน160 ประเทศทั่วโลก
สหพันธ์เบาหวานนานาชาติได้ประเมินว่า ในช่วงอายุ 20-79 ปี  มีผู้เป็นเบาหวานทั่วโลกประมาณ 415 ล้านคนเมื่อปีค.ศ. 2015 และคาดการณ์ว่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 642 ล้านคนในปีค.ศ. 2040  ในจำนวน 415 ล้านคนนี้ เป็นเพศชาย 199.5 ล้านคน เพศหญิง 215.2 ล้านคน  ขณะที่ในปีค.ศ. 2013  มีผู้เป็นเบาหวานทั่วโลก 371 ล้านคน จะเห็นได้ว่า แนวโน้มของผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจว่า ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และ ประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ประเทศกำลังพัฒนาต้องแบกรับภาระของการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ที่เป็นเบาหวานในกลุ่มคนที่อายุน้อย และอยู่ในวัยทำงาน (35-64 ปี) ซึ่งต่างกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่พบเบาหวานส่วนใหญ่ในผู้สูงอายุ ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่เป็นเบาหวาน ไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นเบาหวาน  ในประเทศไทย รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชน โดยการตรวจร่างกาย เมื่อปี พ.ศ. 2552 พบว่า ความชุกของเบาหวานใน ประชากรไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป พบ 6.9%  อัตราส่วนผู้หญิงต่อผู้ชาย 1.3:1 อัตราความชุกสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ในช่วงอายุ 60-69 ปี พบความชุกสูงขึ้นเป็น 16.7% และอายุ 70-79 ปี พบ 15.8% และประมาณว่า มีผู้เป็นเบาหวานในประเทศไทย 3.5 ล้านคน  อย่างไรก็ตาม ในปีพ.ศ. 2557 พบว่า ความชุกของเบาหวานใน ประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 8.9%
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ขยายความเป็นอยู่แบบชุมชนเมืองให้กระจายออกไป รวมทั้งการดำรงชีวิตแบบตะวันตก มีส่วนต่อการระบาดของโรคเบาหวาน  วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน มีอิทธิพลต่อ การเกิดโรคเบาหวาน ในขณะที่วิถีชีวิตและความเป็นอยู่แบบชนบทดั้งเดิมถูกกลืนหายไป  ภาวะเศรษฐกิจและสังคม ผลักดันครอบครัวเคลื่อนย้ายจากชนบทเข้าสู่ตัวเมือง เพื่อการจ้างงาน  การขยายอุตสาหกรรมก่อให้เกิดชุมชนเมือง เบาหวานซึ่งพบได้มากในเขตเมืองจึงมีการระบาดอย่างรวดเร็ว ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรม ความชุกของเบาหวานที่สูงขึ้นนี้ จึงเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง
1.          ประชากรอายุยืนขึ้น
2.         การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
3.         ภาวะน้ำหนักเกิน และความอ้วน
4.          ความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย และขาดการออกกำลังกาย
เบาหวานจำแนกได้เป็น 4 ประเภท คือ เบาหวานประเภทที่ 1 ซึ่งส่วนใหญ่พบในเด็ก มีลักษณะ สำคัญคือ ตับอ่อนสร้างอินซูลินได้น้อยมาก จำเป็นต้องฉีดอินซูลินตลอดชีวิต เพื่อคงชีวิตให้ดำรงอยู่ได้  ถัดไปคือ เบาหวานประเภทที่ 2 ซึ่งพบส่วนใหญ่ในผู้ใหญ่ และเป็นเบาหวานที่พบมากที่สุดทั่วโลก ถึง 85-95% ของ ผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด ประเภทที่ 3 คือเบาหวานที่ทราบสาเหตุ และประเภทที่ 4 คือ เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์  ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเบาหวานประเภทที่ 2 ที่พบมากที่สุด มีหลายประการ คือ
1.          ประวัติกรรมพันธุ์ของโรคเบาหวานในครอบครัว
2.         น้ำหนักเกิน หรือ อ้วน
3.         การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
4.          การขาดการออกกำลังกาย
5.         อายุที่มากขึ้น
6.          ความดันโลหิตสูง
7.          ไขมันในเลือดสูง
8.        เชื้อชาติ
9.       ความบกพร่องต่อความทนน้ำตาล (Impaired glucose tolerance) และความบกพร่องของ น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (Impaired fasting glucose) ซึ่งรวมกันเป็นภาวะก่อนเบาหวาน (Pre-diabetes)
10.     หญิงที่มีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
11.     ภาวะทุพโภชนาการขณะตั้งครรภ์
12.    ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovarion syndrome) ที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินร่วมด้วย
13.    ผู้ที่อ้วนร่วมกับมีรอยปื้นดำ (Acanthosis nigricans) ที่คอ  และบริเวณข้อพับ ซึ่งพบร่วมกับภาวะดื้อต่ออินซูลินได้
ในปีนี้ สหพันธ์เบาหวานนานาชาติได้กำหนดวันเบาหวานโลกให้เป็นปีแห่ง “สตรีกับเบาหวาน (Women and diabetes) ปัจจุบันมีผู้หญิงเป็นเบาหวานถึง 199 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 313 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2040  เบาหวานเป็นสาเหตุการตายอันดับเก้าของผู้หญิงทั่วโลก ซึ่งมีผู้หญิงประมาณ 2.1 ล้านคนที่เสีย ชีวิตจากเบาหวานทุกปี  โดยทั่วไป ผู้หญิง 2 คนจากใน 5 คน จะอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 60 ล้าน คนทั่วโลก  ผู้หญิงในกลุ่มนี้ เมื่อเป็นเบาหวานจะมีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ ตั้งแต่การตั้งครรภ์ยาก และเมื่อตั้ง ครรภ์แล้ว ก็เป็นครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง (high risk pregnancy) หญิงที่เป็นเบาหวาน ไม่ว่าจะเป็นประเภท 1 หรือ 2 ถ้าไม่มีการวางแผนดูแลรักษาที่ดีก่อนการตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราตาย และ อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งของแม่และทารก
เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์มีผลกระทบต่อสุขภาพของแม่และทารก โดยเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ เด็กทารกตัวใหญ่ผิดปกติ ตลอดจนการคลอดลำบาก ประมาณว่า หนึ่งในเจ็ดของ ทารกที่คลอด (ประมาณ 20.9 ล้านคลอดทั่วโลกในปีค.ศ. 2015) เกิดจากแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์  หญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง เกิดขึ้นได้แม้อายุจะน้อยกว่า 30 ปี และพบได้บ่อยในประเทศที่มีรายได้ต่ำ และปานกลาง  นอกจากนี้ หญิงที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงสูง ที่จะเป็นเบาหวานถาวรในอนาคต
เบาหวานประเภทที่ 1 พบในเด็กและในคนอายุน้อย และมีอาการรุนแรงมากกว่าเบาหวานประเภทที่ 2  ผู้หญิงที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 1 ถ้าตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงสูงต่อการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด และความผิด ปกติของทารกในครรภ์
ในเบาหวานประเภทที่ 2 พบในคนที่อายุมากขึ้น ซึ่งอาจจะร่วมกับความอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆต่อการเกิดหลอดเลือดแดงตีบ  ผู้หญิงที่เป็นเบาหวาน ประเภทที่ 2 พบว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากกว่าผู้หญิงที่ไม่เป็นเบาหวาน ถึง 10 เท่า  ข้อสำคัญที่ ควรตระหนักคือ เบาหวานประเภทที่ 2 มากกว่าครึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน 
โดยสรุป
1. ในหลายประเทศทั่วโลก พบเบาหวานในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และต้องให้ความสำคัญในการเข้าถึงการบริบาลทางการแพทย์ ทั้งการวินิจฉัย การรักษาที่เท่าเทียมกัน
2.  ผู้หญิงเป็นเพศแม่ที่ให้กำเนิดบุตรธิดา ในหญิงที่เป็นเบาหวานที่ต้องการมีลูก จึงต้องมีการวางแผน การดูแลรักษาตั้งแต่แรกเริ่มก่อนการตั้งครรภ์อย่างชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยง และภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกัน ถึงแม้ไม่ได้เป็นเบาหวานมาก่อน ก็ต้องจัดระบบการคัดกรองที่ ชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เพื่อการวินิจฉัยภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทั้งนี้ เพื่อความปลอด ภัยทั้งในชีวิตของแม่ และทารกในครรภ์
3.  บุคลากรทางการแพทย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องได้รับการอบรมทั้งความรู้ และการปฏิบัติในการดูแล การคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การวินิจฉัย การรักษา และการติดตามเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อย่างมี ประสิทธิภาพ
4.  การให้ความรู้ผู้ที่เป็นเบาหวาน การดูแลตนเอง อาหาร การออกกำลังกาย ทั้งก่อนการตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์ เวลาคลอด และหลังคลอด ตลอดจนความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ช่วยให้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง มีส่วนช่วยลดและเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนได้
5. การป้องกันเบาหวานเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุด ความตื่นตัว การดูแลเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และพฤติกรรมสุขภาพต่างๆ เป็นกิจกรรมที่ผู้ที่เป็นเพศแม่ มีอิทธิพลสำคัญในระยะยาวต่อสมาชิก ทุกคน และที่สำคัญคือต่อเด็กในครอบครัวนั่นเอง
(ผมได้ว่างเว้นการเขียนบทความในบล็อกมาปีกว่า คงไม่ขอแก้ตัวและกล่าวอ้างใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากว่า ขอเริ่มจรดปลายนิ้วลงแป้นพิมพ์ใหม่ เพื่อเผยแพร่บทความที่คิดว่า น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่เข้ามาอ่าน และติดตามได้ ขอเริ่มด้วยบทความเกี่ยวกับวันเบาหวานโลก ที่จะถึงในวันที่  14 พฤศจิกายนนี้  หวังว่าคงขะช่วยกันติดตามต่อไปครับ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น