วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2561

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล....ข้อเท็จจริงจากงานวิจัย

สารให้ความหวานแทนน้ําตาล....ข้อเท็จจริงจากงานวิจัย

        ปีใหม่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว หลายท่านคงได้ต้อนรับปีใหม่อย่างสนุกสนานรื่นเริง พร้อมกับการนับถอยหลัง ด้วยรูปแบบต่างๆ ตรุษจีนก็กําลังตามมาเร็วๆนี้ ทําให้นึกถึงวันไหว้ของประเพณีจีน ที่มีการไหว้เทพเจ้า และ บรรพบุรุษ และประเพณีการรับประทานอาหารอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากันของคนในครอบครัว ตามด้วยบรรยากาศอันสดใสของวันเที่ยว และความตื่นเต้นของการได้รับอั่งเปา
        งานฉลองเทศกาลต่างๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องการกินและดื่ม และเหมือนกันเช่นทุกครั้ง ที่เป็นข้ออ้างของผู้ที่เป็นเบาหวาน เมื่อน้ําตาลในเลือดสูงขึ้น หลายคนเลี่ยงการได้รับน้ําตาลมากเกินไป ด้วยการดื่มเครื่องดื่มที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ําตาล (artificial sweeteners) ซึ่งมีอยู่หลากหลายรูปแบบ แม้กระทั่งในชีวิตประจําวัน หลายคนก็ใช้ หรือดื่มสารทดแทนน้ําตาล จนเป็นนิสัย เพื่อไม่ให้น้ําตาลในเลือดสูงขึ้น หรือหวังลดน้ําหนัก

        ข้อเท็จจริง...สารให้ความหวานแทนน้ําตาล ให้ประโยชน์ตามที่ต้องการหรือไม่?

        นายแพทย์ริชาร์ด ยัง (Dr. Richard Young) จากมหาวิทยาลัยแอดีเลด (University of Adelaide) ออสเตรเลีย ได้นําเสนอผลงานของเขา ในที่ประชุมวิชาการด้านเบาหวาน (The European Association for the Study of Diabetes – EASD) ที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส เมื่อเดือนกันยายน 2017 นี้ เกี่ยวกับสารให้ ความหวานแทนน้ําตาลมีผลอย่างไรต่อการดูดซึมของน้ําตาลในทางเดินอาหาร
        สารทดแทนน้ําตาล (น้ําตาลเทียมที่ให้พลังงานต่ําหรือไม่ให้พลังงานเลย) ใช้กันอย่างแพร่หลายใน เครื่องดื่มต่างๆ (Diet drinks) รวมทั้งผสมในของหวานและขนม นายแพทย์ริชาร์ด ยัง ได้ศึกษาในอาสาสมัครที่มี สุขภาพปกติ และไม่ได้ใช้สารทดแทนความหวานมา 60 คน อายุเฉลี่ย 27 ปี ดัชนีมวลกาย 24 กก./ตร.. (ไม่อ้วน) ในจํานวนนี้เป็นผู้ชาย 14 คน ก่อนเริ่มต้นทดลอง อาสาสมัครทุกคน หลังจากอดอาหารมาทั้งคืน จะได้รับการสองกล้องกระเพาะอาหารและลําไส้เล็กส่วนต้น (duodenum) และให้กลูโคส (30 กรัม/150 มล.) ทางสายยางเข้าลําไส้เล็กส่วนต้น และวัดการดูดซึมกลูโคส ระดับกลูโคสในเลือดหลังจากได้รับกลูโคส ระดับอินซูลิน และฮอร์โมนจากลําไส้เล็ก ซึ่งมี 3 ตัว คือ GIP (Glucose-dependent insulinotropic polypeptide), GLP-1 และ 2 (Glucagon-like peptide 1 และ 2)

(หมายเหต:ฮอร์โมนทั้ง 3 ตัวนี้ สร้างที่ลําไส้เล็ก ถูกปล่อย ออกมาเมื่อมีอาหารตกถึงกระเพาะ และจะเข้าสู่กระแสเลือด ไปออกฤทธิ์ที่ตับอ่อน กระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมา และลดการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอน เพื่อตอบสนองต่อน้ําตาในเลือดที่สูงขึ้น หลังรับประทานอาหาร)

        การศึกษานี้แบ่งผู้สมัครเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มทดลอ(17คน) ให้รับประทานสารทดแทนน้ําตาลที่จัดทําในรูปแคปซูล (ประกอบด้วย sucralose และ acesulfame-K ซึ่งพบในเครื่องดื่มเป็นส่วนใหญ่) โดยให้รับประทาน 3 เวลาก่อนอาหาร (เทียบเท่ากับดื่ม diet drinks 1.2-1.5 ลิตร) เป็นเวลา 2 สัปดาห์ อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มเปรียบเทียบ (control group) (16 คน) ให้รับประทานสารเลียนแบบ (หรือยาหลอก - placebo) วิธีการวิจัยเป็นแบบสุ่มตัวอย่าง (randomized) ปกปิดทั้งสองทาง (double-blind) และคู่ขนาน (parallel trials) เมื่อครบสองสัปดาห์ ทั้งสองกลุ่มจะได้รับการประเมิน และการวัดเช่นเดียวกับครั้งแรก
        การวัดการดูดซึมกลูโคส ระดับน้ําตาลในเลือด ฮอร์โมนอินซูลิน และฮอร์โมนลําไส้เล็ก ในครั้งแรกก่อนเริ่มการทดลอง ไม่พบความแตกต่างของทั้งสองกลุ่ม หลังจากการทดลองครบ 2 สัปดาห์ เมื่อวัดค่าต่างๆอีกครั้ง ผลปรากฎว่า
        การดูดซึมกลูโคสในนาที 90 และ 120 หลังจากได้รับกลูโคกลุ่มทดลองมีการดูดซึมน้ําตาลสูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ 20% (P<.05) ระดับน้ําตาลในเลือด กลุ่มทดลองก็สูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ 24% (P<.05)
        ในการศึกษาการตอบสนองของฮอร์โมนพบว่า อินซูลิน, GIP, และ GLP-2 ตอบสนองต่อกลูโคสใน ลําไส้เล็กไม่แตกต่างกัน แต่ระดับขอGLP-2 และอินซูลิน ลดต่ําลงในกลุ่มทดลอง (37%, P<.05) ในนาทีที่ 40 และ 60 ตามลําดับหลังได้รับน้ําตาล ขณะที่การตอบสนองของ GLP-1 ต่อน้ําตาลในลําไส้เล็กต่ําลง 34% ใน กลุ่มทดลอง เมื่อเทียบกับกลุ่มเปรียบเทียบ

(หมายเหต:GLP-1 เป็นฮอร์โมนสําคัญจากลําไส้เล็กในการช่วยลดน้ําตาลหลังอาหาร เมื่อมีอาหาร ตกถึงกระเพาะ โดยเฉพาะอาหารประเภทแป้ง น้ําตาล กรดไขมัน ใยอาหาร ลําไส้เล็กจะถูกกระตุ้นให้หลั่ง ฮอร์โมนนี้ออกมา ในคนที่เป็นเบาหวาน ระดับ GLP-1 จะลดต่ําลง ในปัจจุบันมียาเบาหวานหลายตัวที่เกี่ยวข้องกับการเสริมฤทธิ์ GLP-1 หรือสังเคราะห์ GLP-1 โดยตรง)

        Dr Young ได้ให้ความเห็นว่า การบริโภคน้ําตาลเทียมเป็นประจํา มีผลเปลี่ยนแปลงระบบการควบคุม น้ําตาลของร่างกาย และทําให้น้ําตาลหลังอาหารสูงขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดเบาหวานในอนาคต  ผลการศึกษานี้ คงจะนําไปสู่งานวิจัยที่ใหญ่ขึ้น และก้าวหน้ามากขึ้นต่อไป

        การศึกษานี้ ได้ให้ข้อคิดเห็นอะไรบ้าง
  1. สารให้ความหวานทดแทนน้ําตาล หรือน้ําตาลเทียม ถ้าบริโภคเป็นประจําและต่อเนื่อง มีผลทําให้ ระบบการควบคุมน้ําตาลในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป อาจเป็นผลจากการที่ฮอร์โมนจากลําไส้เล็ก โดยเฉพาะ GLP-1 ลดลง ไปลดการกระตุ้นการหลั่งอินซูลินหลังอาหาร ทําให้อินซูลินหลั่งน้อยลง ขณะที่กลูคากอน (ทําให้น้ําตาลในเลือดสูงขึ้น) ไม่ลดลง น้ําตาลในเลือดหลังอาหารจึงสูงขึ้นกว่าผู้ทไม่ได้ใช้น้ำตาลเทียม
  2. ลักษณะที่น้ําตาลหลังอาหารสูงขึ้น และ GLP-1 ลดต่ําลง คล้ายกับที่พบในภาวะก่อนเบาหวาน (pre-diabetes) แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า น้ําตาลเทียมทําให้เกิดเบาหวานในอนาคต
  3. น้ําตาลที่สูงหลังอาหาร มีผลกระทบที่สําคัญต่อระดับของ HbA1c (ค่าน้ําตาลสะสม หรือค่าน้ําตาลเฉลี่ยที่ใช้ในการวินิจฉัย และประเมินการรักษาเบาหวาน) ผู้ที่เป็นเบาหวานที่คิดว่า การใช้ น้ําตาลเทียมเพื่อช่วยลดน้ําตาลในเลือด อาจจะไม่ได้มีส่วนช่วยลด HbA1c
  4. การใช้สารให้ความหวานแทนน้ําตาล โดยมุ่งหวังลดการบริโภคน้ําตาล เพื่อหวังลดน้ําหนัก แต่ถ้า มีผลต่อน้ําตาลหลังอาหารที่สูงขึ้น และการตอบสนองของ GLP-1 ลดลง อาจจะไม่มีผลต่อการลดน้ําหนักตามที่ต้องการ
        ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ําตาลมีอยู่รอบตัวเรา แต่ละคนย่อมมีบริโภคนิสัย และเหตุผลที่จะเสพแตกต่างกันไป แต่ทุกอย่างย่อมต้องมีการประเมิน และติดตามผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในแง่บวกและลบ ถ้ายึดหลักของสุขภาพ การบริโภคที่ถูกสุขลักษณะ และพอประมาณ ก็มีส่วนช่วยหลีกเลี่ยงที่จะได้รับสารที่ฟุ่มเฟือยไม่จําเป็นให้น้อยลงได้

เอกสารอ้างอิง:
        European Association for the Study of Diabetes (EASD) 2016 Annual Meeting. September 14, 2017, Lisbon,
Portugal. Abstract 193 


วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ครอบครัวผูกพัน.....คุ้มกันเบาหวาน ตอนที่ 2

ครอบครัวผูกพัน.....คุ้มกันเบาหวาน ตอนที่ 2

ความสัมพันธ์ของครอบครัวต่อการรักษาเบาหวาน
            ครอบครัว หมายถึงสถาบันพื้นฐานของสังคมที่ประกอบด้วยสามีภรรยาและหมายความถึงลูกด้วย (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542) ความผูกพันในครอบครัว จึงเป็นความผูกพันของพ่อแม่ ลูก และพี่น้อง  เบาหวานประเภทที่ 2 พบบ่อยในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จึงเป็นลักษณะลูกๆดูแลพ่อแม่  หรือภรรยาดูแลสามี หรือกลับกัน มีน้อยรายที่เป็นแบบพ่อแม่ดูแลลูกที่เป็นเบาหวานตั้งแต่เด็ก ลักษณะแบบนี้พบในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 ที่พบในคนอายุน้อย  ในทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้จัดบิดามารดาอยู่ในทิศเบื้องหน้า หรือทิศตะวันออก (ปุรัตถิมทิศ)  บุตรธิดาพึงบำรุงบิดามารดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าดังนี้
1.          ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
2.         ช่วยทำการงานของท่าน
3.         ดำรงวงศ์สกุล
4.          ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
5.         เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
บิดามารดาย่อมอนุเคราะห์บุตรธิดา ดังนี้
1.          ห้ามปรามจากความชั่ว
2.         ให้ตั้งอยู่ในความดี
3.         ให้ศึกษาศิลปะวิทยา
4.          หาคู่ครองที่สมควรให้
5.         มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร
บิดามารดาจึงเป็นเสมือนพรหมของลูกที่ลูกจะต้องกตัญญูกตเวที ลูกที่ดีจึงควรเอาใจใส่ปรนนิบัติ บิดามารดา โดยเฉพาะถ้าเจ็บป่วยเป็นเบาหวานด้วย  การดูแลปรนนิบัติไม่ใช่ให้แต่เพียงด้านวัตถุ เช่น ค่ายา ค่ารักษา ค่าน้ำมัน อุปกรณ์ต่างๆ จัดรถ จัดคนดูแล เป็นต้น แต่ควรคำนึงถึงด้านจิตใจ เช่นการพูดคุยถามไถ่ การไปเยี่ยมบ่อยๆ การพยาบาลพ่อหรือแม่ด้วยตนเอง การพาไปโรงพยาบาล หรือพาไปรับประทานอาหาร หรือพาไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น  สิ่งประเสริฐที่สุดคือการให้ความรู้ ให้ธรรมะ ด้วยกุศโลบายต่างๆอย่างแยบยล และโน้มน้าวให้ท่านนำไปปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของท่าน
ถ้าท่านมีพ่อหรือแม่เป็นเบาหวาน ท่านจะทำอย่างไร จะเห็นว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (lifestyle) ประจำวันให้เหมาะสมกับโรคที่เป็น มีความสำคัญต่อการรักษาเบาหวาน และการป้องกันโรคแทรกซ้อน  ในผู้สูงอายุ มีปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือการรักษาเบาหวาน
1. การรับประทานอาหาร ปัจจัยหลายอย่างมีผลต่อการรับประทานอาหารในผู้สูงอายุ ตั้งแต่ ความอยากอาหารลดลง และรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ปัญหาเรื่องฟัน การกลืนไม่คล่องและสะดวกเหมือนเดิม การทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้น้อยลง ตลอดจนอัตราการเผาผลาญอาหารลดลง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มีผลต่อการรักษาด้วยอาหารในผู้ป่วยเบาหวาน
2. การขับถ่าย ผู้สูงอายุมีปัญหาด้านการขับถ่าย ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะ  ระบบ การย่อยอาหารเริ่มเสื่อมลง การเคลื่อนไหวของลำไส้ลดน้อยลง ในขณะที่กล้ามเนื้อหูรูดไม่ แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน ผู้ที่เป็นเบาหวานที่มีปัญหาเรื่องการเสื่อมของระบบประสาทอัตโนมัติมาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้ท้องอืด แน่นท้องได้ง่าย และมีอาการท้องผูกได้บ่อย หรือสลับกับท้องเสีย โดยเฉพาะตอนกลางคืน   ในเรื่องปัสสาวะ ผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง มีอาการปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะไม่พุ่ง ไม่มีแรง หรือกะปริบกะปรอยได้ อาจเกิดจากกระบังลมหย่อน และมดลูกเคลื่อนลงต่ำในผู้หญิง หรือต่อมลูกหมากโตในผู้ชาย ถ้าเป็นเบาหวานร่วมด้วย และเกิดพยาธิสภาพของระบบประสาทอัตโนมัติ จะมีอาการของระบบการขับถ่ายมากขึ้น และอาจนำไปสู่การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะอย่างรุนแรงได้  ทั้งหมดเหล่านี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และกระทบต่อการรักษาเบาหวาน
3. การนอนหลับ แบบแผนการนอนจะเปลี่ยนไป ผู้สูงอายุจะหลับยากและตื่นเร็ว  บางคนกลางคืน นอนไม่หลับ แต่หลับกลางวัน และรบกวนญาติหรือคนเฝ้า  บางคนนอนหัวค่ำและตื่นกลางดึก  บางคนนอนดึกตื่นเช้า  บางรายมีเรื่องกระทบจิตใจเล็กน้อยหรือเป็นห่วงบุตรหลาน จะนอนไม่ หลับตลอดทั้งคืน
4.  การเคลื่อนไหวลำบาก ไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวานมานาน บางราย มีปลายประสาทการทรงตัวเสื่อม ทำให้เดินสะดุดหรือเซ หกล้มได้ง่าย  บางรายประสาทอัตโนมัติที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวของหัวใจและหลอดเลือดเสื่อม ทำให้ความดันโลหิตต่ำเวลาเปลี่ยนท่า จะมีอาการหน้ามืด เวียนหัว หรือเป็นลมล้มฟาดไปได้  ปัญหาเรื่องข้อเสื่อม พบได้บ่อยมากในผู้สูงอายุ มีอาการปวดข้อ ปวดเข่า ปวดเมื่อยตามตัว  นอกจากนี้บางรายที่เคยมีแผลที่เท้า หรือเท้าผิดรูป หรือถูกตัดขา ล้วนมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวทั้งสิ้น
5. สายตา ผู้สูงอายุจะมีปัญหาเรื่องสายตา ตามัว หรือปรับโฟกัส มองตัวหนังสือที่ใกล้ และตัวเล็ก ไม่ได้ ทำให้อ่านสลากยาหรือดูเม็ดยาผิด หรืออ่านตัวเลขที่กระบอกฉีดยา (syringe) อินซูลิน หรือปากกาฉีดอินซูลินไม่ชัด  ผู้ป่วยมีโอกาสหยิบยาผิด รับประทานยาผิดเวลา หรือฉีดยา มากเกินไป หรือน้อยเกินไป เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิต
6.   ภาวะหลงลืมหรือความจำเสื่อม  ผู้สูงอายุจะลืมง่ายขึ้นโดยเฉพาะเรื่องที่ผ่านมาใหม่ๆ แต่จะจำ ความหลังได้แม่นยำ  ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ดี มีโอกาสเกิดความจำเสื่อมได้เร็วขึ้น บางคนลืมไปว่า รับประทานยาแล้วหรือยัง หรือจำขนาดยาที่รับประทาน หรือยาฉีดผิด  บางคนลืมว่า รับประทานอาหารแล้วหรือไม่ ความจำเสื่อมอาจจะรุนแรงจนจำบุคคลที่ใกล้ชิดไม่ได้ จำสถานที่ไม่ได้ ออกจากบ้านแล้วกลับไม่ถูก ทำให้เป็นภาระของครอบครัว  
7. ความเอาแต่ใจตัวเองและขี้งอน เหมือนที่บอกว่า ยิ่งแก่ยิ่งดื้อ เวลาอยากจะได้อะไรแล้วไม่ได้ จะโกรธ รวมถึงการรับประทานอาหาร หรือขนมที่ชอบด้วย หลายครั้งจะพยายามเอาชนะเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ
8.  ความรู้สึกว้าเหว่ ถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียว หรือความกลัวถูกทอดทิ้งนำไปสู่ปัญหาหลายอย่าง เช่น ความเครียดความน้อยใจ ภาวะซึมเศร้า ภาวะทุพโภชนาการ การปฏิเสธการรักษา การทรมานตนเอง และอื่นๆ
9. ภาวะซึมเศร้าเป็นอารมณ์แปรปรวนที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวาน  เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ไม่ต้องการ เช่น การเกิดโรคแทรกซ้อนของเบาหวาน หรือตรวจพบโรคอื่นร่วมด้วย การเพิ่มยารักษา หรือต้องฉีดยาอินซูลิน เป็นต้น รวมทั้งความรู้สึกสูญเสียต่างๆ เช่น ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ สูญเสียฐานะทางการเงิน หรือความล้มเหลวทางสังคม เป็นต้น
การดูแลผู้ป่วยเบาหวานคงเป็นภาระที่หนักมาก  ถ้าคิดเช่นนั้นก็คงเกิดความท้อใจ หมดแรง และ เบื่อหน่าย  ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ช่วยตัวเองได้ดี มีส่วนน้อยที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้  ผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้ดีก็ไม่เป็นภาระมาก  ครอบครัวมีส่วนในการให้กำลังใจ ส่งเสริมความรู้ และช่วยปรับวิถีชีวิตประจำวันให้เหมาะสม  ถ้าจะแบ่งขั้นผู้ป่วยในเรื่องการช่วยเหลือตัวเอง พอจะแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ
1.  ช่วยเหลือตัวเองได้ดี 100% หรือเกือบ 100% ซึ่งสามารถดูแลตนเองได้ แม้กระทั่งการเดินทางไปโรงพยาบาลเอง อาจต้องการเพียงแค่เพื่อนร่วมเดินทางเท่านั้น ในกลุ่มนี้ไม่ต้องการการดูแลมาก อาจจะประมาณ 0-20%
2.   พอช่วยเหลือตัวเองได้ในกิจวัตรประจำวัน เช่นการรับประทานอาหาร การเข้าห้องน้ำห้องส้วม การเคลื่อนไหวที่แม้จะช้าลง หรือไม่ค่อยมีแรง แต่ก็พอทำเองได้ หรืออาจจะมีไม้เท้าช่วยบ้าง เป็นต้น  ครอบครัวมีส่วนช่วยเหลือในเรื่องการจัดอาหาร การจัดยา และคอยดูแลเพื่อป้องกัน การหกล้ม  การดูแลอาจจะมากขึ้นประมาณ 30-50% เมื่อเทียบกับกลุ่ม 1
3. ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง ลุกเดินเหินลำบาก แม้พอเดินได้บ้าง แต่ต้องมีคนคอยพยุง หรือคอยจับด้านข้าง รับประทานอาหารเองได้ แต่ควบคุมการเคลื่อนไหวลำบากขึ้น ทำให้มีอาหารร่วงหล่น อาบน้ำเองได้ ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะเองได้ แต่ต้องมีคนคอยพยุงช่วยเหลือ และไม่ใส่กลอนประตูห้องน้ำ ความจำยังดี พูดคุยรู้เรื่อง อาจหลงลืมบ้าง ครอบครัวต้องช่วยเหลือในการจัดอาหาร จัดยา และการเคลื่อนไหว ไม่สมควรปล่อยอยู่คนเดียว เพราะมีโอกาสหกล้มได้  การดูแลต้องการมากขึ้นประมาณ 60-80%  เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ 1
4.      ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอด (bed-ridden) อาจจะรู้ตัว พอพูดได้ หรือฟังได้แต่พูดไม่ได้ หรือพูดไม่ได้ หรือไม่รู้สึกตัวเลย  การให้อาหารอาจจะพอป้อนได้บ้าง หรือต้องให้อาหารทางสายยาง  อุจจาระ-ปัสสาวะอยู่บนเตียงโดยใช้ผ้าอ้อม หรือต้องใส่สายสวนปัสสาวะ  ครอบครัวต้องทำให้ทุกอย่าง  ต้องการการดูแลเทียบเท่ากับ 100%
ครอบครัวควรจะทำอย่างไรในการดูแลคนที่เรารักที่เป็นเบาหวาน  ความเป็นอยู่ในครอบครัวมีการใช้ชีวิตร่วมกันหลายอย่าง เช่นการรับประทานอาหาร การพักผ่อน ดูหนังฟังเพลง การเล่นกีฬา เป็นต้น  ถ้ามีแต่ใจและการกระทำ สิ่งที่พยายามดูแล และปรนนิบัติอาจกลายเป็นผลร้าย หรือเกิดโทษอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์  คนในครอบครัวจะเตรียมตัวหรือปฏิบัติอย่างไรบ้างในการช่วยเหลือหรือดูแลผู้ป่วยเบาหวานในครอบครัว
1.     ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ไม่ว่าจากการถาม การเข้าอบรมสัมมนา จากแผ่นพับ หนังสือ หรือเอกสารต่างๆ รวมทั้งอินเตอร์เน็ท ยิ่งศึกษาและมีความเข้าใจมากขึ้น โอกาสที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ยิ่งมากขึ้น  เรื่องที่น่ารู้มีอะไรบ้าง
-        ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคเบาหวานและการดำเนินโรค
-       โรคแทรกซ้อนมีอะไรบ้าง
-       ปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับหลอดเลือดแข็ง และที่กระตุ้นให้เกิดโรคแทรกซ้อนเร็วขึ้น
-       เป้าหมายของการรักษา
-        ความรู้และการใช้ยาที่ใช้รักษา
-        ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
-  ความรู้เรื่องอาหาร เช่น ความต้องการแคลอรี่ต่อวัน การเลือกประเภทอาหาร การแลกเปลี่ยนสารอาหาร การจัดมื้ออาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก หรือให้สัมพันธ์กับการออกฤทธิ์ของยา ความสม่ำเสมอของการรับประทานอาหาร เป็นต้น
-       ความรู้เรื่องการออกกำลังกาย การจับชีพจร การประเมินความแรงของการออกกำลังกาย ชีพจรสูงสุดของแต่ละคนในขณะออกกำลังกาย การอุ่นร่างกาย การออกกำลังกายแบบแอโรบิค การออกกำลังกายแบบต้านแรงโน้มถ่วง การทำให้ร่างกายเย็นลง ภาวะใดที่ไม่สมควรออกกำลังกาย เป็นต้น
-       การดูแลขณะเจ็บป่วย เช่น เป็นไข้ ท้องเสีย เป็นแผล เป็นต้น
-       การเจาะตรวจน้ำตาลปลายนิ้วเองที่บ้าน ตลอดจนการแปลผล
-       การฉีดยาอินซูลินด้วยตนเอง
2.  พยายามให้ความรู้อย่างแยบยล โดยไม่ใช่เป็นการสอน แต่หาวิธีการต่างๆ หลากหลายที่จะให้ผู้ป่วยสนใจ รับรู้ คล้อยตาม และลงมือปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการชวนเข้าฟังการอบรม หรือสัมมนาในที่ต่างๆ การพูดคุยสอดแทรกความรู้ การให้เห็นตัวอย่างของโรคแทรกซ้อน การให้ความรู้ในทางปฏิบัติ เช่น การเลือกอาหารและการจัดอาหารให้เป็นมื้อ การชวนออกกำลังกาย เป็นต้น ตลอดจน การจัดยาหรืออธิบายการใช้ยาให้ถูกต้อง  การจัดระบบความเป็นอยู่ให้เหมาะสม สอดคล้องกับโรคที่เป็น มีส่วนสำคัญมากที่ทำให้เกิดผลดีต่อการรักษา
3.   การไม่กระทำในสิ่งที่ชักจูงหรือทำให้โรครักษายากขึ้น เช่น การซื้อขนมหวานมาฝาก หรือเก็บไว้ที่บ้านประจำ การรับประทานอาหารที่ไม่เป็นเวลา หรือรับประทานจุบจิบ การซื้อเหล้า หรือบุหรี่มาฝากเพราะเห็นเป็นของชอบ การไม่ตรวจเช็คยา หรือแม้กระทั่งการลืมวันนัดของแพทย์จนขาดยา เป็นต้น
4. ในภาวะการณ์ที่จำเป็น การฝากดูแลในสถานพยาบาลที่ไว้ใจ และได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นแบบการไปกลับในแต่ละวัน (day care) หรือการฝากดูแลทั้งในระยะสั้น หรือระยะยาว (nursing home) อาจมีส่วนช่วยพยุง และประคับประคองให้มีสุขภาพกายและใจที่ดีต่อไปได้
5.   การให้กำลังใจ สอบถาม หรือมาเยี่ยมเยียน และหมั่นดูแลอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนจัดคนเฝ้า ในกรณีที่ต้องมีคนเฝ้าตลอดเวลา บางครั้งการให้การบริบาลเอง เช่นการทำแผลให้ การป้อน อาหารเอง การเช็ดตัวให้ เป็นต้น จะสร้างกำลังใจ ความรู้สึกที่ประทับใจ และลดความว้าเหว่ ของผู้ป่วยลงได้มาก ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด

ครอบครัวผูกพัน...คุ้มกันเบาหวาน
            ครอบครัวเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม แต่เป็นแหล่งที่สร้างรากฐาน และสายใยแห่งความรักที่ ยิ่งใหญ่ ความรักความผูกพันในครอบครัวเป็นเสมือนเกราะป้องกันภัย หรือภูมิคุ้มกันต่อสิ่งเลวร้ายภายนอก เช่น ยาเสพติด หรือโรคเอดส์  ขณะเดียวกันการเอาใจใส่ดูแลซึ่งกันและกัน ด้วยหลักวิชาการที่ถูกต้อง สามารถป้องกัน หรือยับยั้งโรคในกาย ให้คนในครอบครัวอยู่อย่างเป็นสุขตลอดไป  ครอบครัวผูกพันจึงช่วยคุ้มกันเบาหวานได้
1.   บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อเบาหวาน เช่น มีประวัติเบาหวานในครอบครัว อ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น หากควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย สม่ำเสมอและลดน้ำหนักได้ระดับหนึ่ง สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดเบาหวานได้ถึงประมาณ ครึ่งหนึ่ง  การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามครรลองดังกล่าว ช่วยลดการเกิดเบาหวานในครอบครัวได้  ครอบครัวผูกพันจึงช่วยป้องกันเบาหวาน
2. ผู้ที่เป็นเบาหวานแล้ว ความรักความผูกพันในครอบครัวที่นำไปสู่การปฏิบัติที่ดีต่อการรักษา ย่อมนำมาซึ่งความสุขในชีวิตของผู้ป่วย เสมือนอยู่อย่างสบายสบายกับโรคเบาหวาน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การป้องกันโรคแทรกซ้อนไม่ให้เกิดขึ้น ตลอดจนการสืบค้นและรักษาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ  ครอบครัวจึงช่วยกันคุ้มกันเบาหวานให้ปลอดจากโรคแทรกซ้อน
3.  ผู้ที่เป็นเบาหวานและมีโรคแทรกซ้อนแล้ว ต้องทุกข์ทรมานกับโรคแทรกซ้อนที่เป็น สิ่งสำคัญ คือโรคแทรกซ้อนนั้นรักษาไม่หายขาด อาจบรรเทาลงได้บ้าง หรืออาจทรงกับทรุดไปเรื่อยๆ  ครอบครัวมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการให้กำลังใจ ไม่ท้อถอย ดูแลไม่ให้โรคทรุดหนักลงไปอีก เน้นให้เห็นคุณค่าของชีวิตที่ยังมีอยู่ เพื่อประคับประคองให้อยู่อย่างเป็นสุข และอยู่เป็นหลัก เสมือนเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร และเป็นศูนย์กลางของลูกหลานให้นานที่สุด  ยิ่งอยู่นานเท่าไหร่ นั่นคือ กำไรของชีวิต  ครอบครัวผูกพันจึงช่วยคุ้มกันเบาหวานให้อยู่ด้วยจิตใจที่เป็นสุข

สรุป
            เมื่อมีคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน ไม่ว่าเป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง หรือลูกหลานก็ตาม ครอบครัวมีบทบาทสำคัญที่มีส่วนช่วยในการรักษา และควบคุมเบาหวานให้ได้ผลดีตามเป้าหมาย  ผู้ป่วยเป็นบุคคลสำคัญที่สุดต่อการรักษาเบาหวาน  แพทย์เป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำและรักษา ซึ่งเวลาพบแพทย์มีเพียงไม่กี่นาที  แต่ผู้ป่วยจะต้องอยู่กับโรคเบาหวานตลอดไป  ครอบครัวจึงเป็นอีกสิ่งแวดล้อม ที่มีเวลาอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้มาก และมีผลอย่างสูงที่จะทำให้โรครักษาได้ดีขึ้นหรือเลวลง
            หากเปรียบพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลก เพื่อให้ชาวโลกได้ทำบุญกุศล  บิดามารดาก็เปรียบเสมือนเป็นเนื้อนาบุญของลูก โดยเฉพาะลูกที่ได้ตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ ด้วยการดูแลท่านยามแก่ชรา หรือเจ็บไข้ได้ป่วย  ลูกอาจจะแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ด้วยการเลี้ยงดู ให้เงินทอง เครื่องนุ่งห่ม จัดหาคนดูแล เป็นต้น  ในอีกระดับหนึ่ง คือการให้ทางด้านจิตใจ  พ่อแม่บางคนอาจต้องการความชื่นชมด้านจิตใจมากกว่าวัตถุ  อย่างไรก็ตาม การให้ที่ยิ่งใหญ่คือการให้ความรู้ ให้ธรรมะ ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ท่านได้ปฏิบัติ และเกิดความสุข ทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของท่าน เพื่อประโยชน์ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต


==============================