วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559

แนวทางอาหารสำหรับคนอเมริกัน 2015-2020 ตอนที่ 2

     "แนวทางอาหารสำหรับคนอเมริกัน 2015-2020" ได้สรุปแนวทางไว้ 5 ประการ
     1. ดำเนินแบบแผนการรับประทานอาหารสุขภาพ (a healthy eating patterns) ตลอดชีวิต เน้นความสำคัญของประเภทอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด เลือกการรับประทานอาหารที่ให้แคลอรี่ที่สามารถดำรงนำ้หนักตัวให้อยู่ในสภาวะของสุขภาพที่ดี (healthy weight) ให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง
     2. เน้นความต้องการสารอาหารที่หลากหลาย ทั้งประเภท และปริมาณ ให้เพียงพอกับความต้องการของแคลอรี่เฉพาะแต่ละคน เลือกอาหารที่อุดมด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ในทุกกลุ่มอาหารตามจำนวนที่ควรได้รับที่กำหนดไว้ในความต้องการสารอาหาร
     3. จำกัดการรับประทานน้ำตาล ไขมันอิ่มตัว และเกลือ  เลือกอาหารที่มีการเติมน้ำตาล ไขมันอิ่มตัว และเกลือน้อย ในประเภทอาหารที่เหมาะกับแบบแผนการรับประทานอาหารสุขภาพ
     4. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ โดยคำนึงถึงวัฒนธรรม และความต้องการของแต่ละบุคคล เพื่อให้การเลือก และการปรับเปลี่ยนนี้ สำเร็จ และดำรงตลอดไป
     5. ส่งเสริมแบบแผนการรับประทานอาหารสุขภาพให้กับทุกคน  ตระหนักถึงการริเริ่ม และสนับสนุนแบบแผนอาหารสุขภาพไปทั่วประเทศ จากบ้าน สู่โรงเรียน ที่ทำงาน และชุมชน

     ข้อแนะนำหลัก (Key Recommendations):
     แบบแผนการรับประทานอาหารสุขภาพอาหารและเครื่องดื่มในปริมาณแคลอรี่ที่เหมาะสม ประกอบด้วยอาหารต่อไปนี้

  • อาหารประเภทพืชผักทั้งหลาย ทั้งผักสีต่างๆ พืชประเภทฝักถั่ว และประเภทแป้ง
  • ผลไม้ โดยเฉพาะที่เป็นทั้งผล (whole fruits)
  • ประเภทเมล็ดต่างๆ อย่างน้อยครึ่งหนึ่งไม่ได้ผ่านการขัดสี (whole grains)
  • นมและผลิตภัณฑ์นมที่ปราศจากไขมันหรือไขมันต่ำ เช่น นมสด โยเกิร์ต ชีส รวมทั้งนมถั่วเหลือง
  • กลุ่มอาหารโปรตีน ที่รวมอาหารทะเล เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน (lean meats) เป็ดไก่ ไข่ เมล็ดถั่ว และผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง
  • น้ำมัน (oils)

     จำกัดอาหารต่อไปนี้

  • ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ (trans fat), น้ำตาล, เกลือ

     อาหารที่ต้องจำกัดปริมาณเหล่านี้ ถือเป็นความสำคัญระดับสาธารณสุขแห่งชาติ และกำหนดเป็นจำนวนที่บุคคลสามารถนำไปปฏิบัติตามปริมาณความต้องการแคลอรี่ตนเอง

  • น้ำตาลห้ามเติมเกิน 10% ของแคลอรี่ที่ควรได้รับต่อวัน
  • ไขมันอิ่มตัว น้อยกว่า 10% ของแคลอรี่ที่ควรได้รับต่อวัน
  • เกลือน้อยกว่า 2,300 มิลลิกรัม (2.3 กรัม) ต่อวัน
  • อัลกอฮอล์ทุกประเภท ควรดื่มในปริมาณปานกลาง ในผู้หญิงไม่เกิน 1 ดริ๊งค์ต่อวัน ผู้ชายไม่เกิน 2 ดริ๊งค์ต่อวัน โดยภายใต้กำหนดของกฎหมาย รวมทั้งข้อจำกัดด้านสุขภาพ เช่น หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น


     แนวทางฯ นี้ไม่ใช่มีเรื่องอาหารอย่างเดียว ยังได้ให้ "ข้อแนะนำหลัก" ของ "แบบแผนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ" (Health physical acitivity patterns) ด้วย โดยระบุว่า
     นอกจากแบบแผนการรับประทานอาหารสุขภาพแล้ว ควรต้องดำเนินตาม "แนวทางการออกลังกายเพื่อสุขภาพของคนอเมริกัน" (Physical Activity Guidelines for Americans)  การออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งต่อการรักษาสุขภาพ ในผู้ใหญ่ควรออกกำลังกายระดับปานกลาง อย่างน้อยที่สุด 150 นาทีต่อสัปดาห์ (หรือคิดเป็น 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์) และออกกำลังกายแบบเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ (เช่นยกน้ำหนัก) อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์  ในเด็กหรือเด็กหนุ่ม อายุระหว่าง 6-17 ปี ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน ทั้งแอโรบิก เพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ และยืดกระดูก  การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยคงน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนขึ้น หรือช่วยลดน้ำหนักได้เมื่อร่วมกับการควบคุมอาหาร  มีหลักฐานทางวิชาการเชิงประจักษ์ชัดเจนว่า การออกกำลังกายสม่ำเสมอลดการตายก่อนวัยอันควร ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจโคโรนารี่ (โรคหัวใจขาดเลือด) สโตร๊ค (โรคหลอดเลือดสมอง) ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ เบาหวานประเภทที่ 2 กลุ่มอาการเมตะบอลิค ตลอดจนมะเร็งเต้านม และลำไส้ใหญ่  นอกจากนี้ ยังมีผลดีต่ออารมณ์และจิตใจ ลดภาวะซึมเศร้า และการพลัดตกหกล้ม  บุคคลควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมอตามวิถีทางที่ตัวเองชอบและความถนัด

     ยังมีรายละเอียดอีกมากครับ ยังไม่จบ จะทะยอยลงต่อครับ ช่วยกันติดตามด้วย


วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

แนวทางอาหารสำหรับคนอเมริกัน 2015-2020

     หลังจากที่ได้เขียน "เรื่องของไขมัน ข้อเท็จจริง" มานำลงสองตอนแล้ว ผมก็ตั้งใจที่จะนำเสนอเรื่องอาหารต่อ โดยนำหลักการและแนวคิดของ "แนวทางอาหารสำหรับคนอเมริกัน 2015-2020 (Dietary Guidelines for Americans 2015-2020)" มาเล่าสู่กันฟัง เพราะเห็นว่า มีหลายอย่างที่มีประโยชน์ และเป็นความรู้ที่นำมาใช้ได้ แม้จะระบุว่า สำหรับคนอเมริกันก็ตาม 
     "แนวทางอาหารสำหรับคนอเมริกัน 2015-2020" ได้จัดทำขึ้นโดย U.S. Departments of Health and Human Services (HHS) and U.S. Department of Agriculture (USDA) โดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการที่เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์ด้านอาหารอาหารและสุขภาพ กำนดเป็นนโยบายสู่แนวทางปฏิบัติสำหรับคนอเมริกันตั้งแต่อายุ 2 ปีเป็นต้นไป ซึ่ง USDA’s National School Lunch Program and School Breakfast Program ได้นำไปใช้ในการจัดทำอาหารสำหรับเด็กในโรงเรียน 30 ล้านคนทุกวัน  เป้าหมายสูงสุดของการกำหนดแนวทางอาหารนี้ เพื่อนำมาซึ่งสุขภาพที่ดีของประชาชน และเพื่อป้องกันโรคเรื้อรังที่สัมพันธ์กับการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่ได้มีเจตนาเพื่อการรักษาโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะ  ในศตวรรษที่ผ่านมา (ในอเมริกา) ภาวะการขาดสารอาหารลดน้อยลง การระบาดของโรคติดเชื้อควบคุมได้ดี คนอเมริกันมีอายุยืนขึ้น ขณะเดียวกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สัมพันธ์กับการรับประทานอาหารไม่ถูกต้อง และการขาดการออกกำลังกาย เพิ่มสูงมากขึ้น  ประมาณครึ่งหนึ่งของคนอเมริกันจะเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 1 หรือ 2 โรคที่สัมพันธ์กับอาหาร และสามารถป้องกันได้ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น

     ความจริงเกี่ยวกับสุขภาพของคนอเมริกัน
     1. เกินครึ่งของประชากรผู้ใหญ่มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วน รวมทั้งภาวะอ้วนลงพุง โดยเฉพาะอายุ 40 ปีขึ้นไป และในเชื้อชาติอัฟริกันอเมริกัน แต่ความชุกกลับลดลงในผู้ที่มีรายได้สูงมาก ในปี 2009-2012 ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนในผู้ใหญ่พบ 65% ในผู้หญิงและ 73%ในผู้ชาย  ขณะที่หนึ่งในสามของประชากรวัย 2-19 ปีมีน้ำหนักเกินหรืออ้วน
     2. ในปีค.ศ. 2010 คนอเมริกันอายุ 20 ปีขึ้นไป เป็นโรคหัวใจ 84 ล้านคน หรือประมาณ 35% ของประชากร
     3. สามในสี่ของผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน และครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีน้ำหนักปกติ พบความเสี่ยงต่อโรคหัวใจอย่างน้อยหนึ่งอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ความผิดปกติของไขมัน สูบบุหรี่ เป็นต้น ขณะที่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันผิดปกติ พบสูงขึ้นในผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุง
     4. ในปีค.ศ. 2009-2012 คนอเมริกันอายุ 8-17 ปี เป็นความดันโลหิตสูง 2% อายุ 18 ปีขึ้นไป ความดันโลหิคสูงเพิ่มขึ้นเป็น 29% ขณะที่อายุ 65 ปีขึ้นไป พบความดันโลหิตสูงถึง 69%
     5. ในปีค.ศ. 2009-2012 คนอเมริกันอายุ 20 ปีขึ้นไป ที่มีโคเลสเตอรอลในเลือดสูงกว่า 200 มก/ดล. พบ 100 ล้านคน (53%) ในจำนวนนี้ 31 ล้านคน โคเลสเตอรอลสูงกว่า 240 มก/ดล.
     6. ปีค.ศ. 2012 ความชุกของเบาหวานในคนอายุ 20 ปีขึ้นไป พบได้ 14% ในผู้ชาย และ 11%ในผู้หญิง  คนที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 2 พบร่วมกับความอ้วนถึง 80%
     7. โรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนอเมริกันมากที่สุดคือ มะเร็งเต้านม และลำไส้ใหญ่
     8. 15% ของผู้หญิงอเมริกันพบมีภาวะกระดูกพรุน ขณะที่พบในผู้ชาย 4%

     ภาพรวมสุขภาพของคนอเมริกันข้างต้นนี้ จะสัมพันธ์กับการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกายทั้งนั้น  นโยบาย "แนวทางอาหารสำหรับคนอเมริกัน 2015-2020" มุ่งหวังให้สามารถนำการปฏิบัติลงสู่ระดับตัวบุคคลและครัวเรือน โดยส่งผ่านทางผู้ให้บริบาลทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้จัดทำนโยบายของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ เพื่อป้องกัน และลดอัตราการเกิดโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่สามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และการออกกำลังกาย

     ลองพิจารณากันดูว่า ภาพรวมสุขภาพของคนไทย แตกต่างกับคนอเมริกันมากหรือไม่ หรือคิดว่า ของคนไทยในปัจจุบันก็คล้ายคลึงกัน

     มาดูว่า "แนวทางอาหารสำหรับคนอเมริกัน 2015-2020" มีอะไรบ้าง ที่น่าจะนำมาเป็นความรู้ และข้อปฏิบัคิสำหรับสุขภาพของตัวเราเอง



วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ประสบการณ์จากห้องตรวจ 2

      เดิมผมตั้งใจจะเขียนแนะนำเรื่องอาหารในแนวของ "แนวทางอาหารสำหรับคนอเมริกัน 2015-2020" ของ USDA (USDA Dietary Guidelines for Americans 2015-2020) เพราะคิดว่าเป็นความรู้ และเกิดประโยชน์ได้ หากนำไปประยุกต์กับชีวิตประจำวันของเรา แต่เนื่องจากช่วงนี้ ผมยังไม่มีเวลามาเขียนบทความใหม่ จึงขอนำ "ประสบการณ์จากห้องตรวจ" มาลงคั่นไว้ก่อน เรื่องอาหาร ขออนุญาตไว้เป็นตอนต่อไป

            ผู้ป่วยชาย รายหนึ่ง อายุ 76 ปี สูง 160 ซม. หนัก 78.9 กก.  รับไว้ในโรงพยาบาลด้วยเรื่องอัมพาตครึ่งซีกซ้ายมาประมาณ 5 วันก่อนมาโรงพยาบาล แพทย์ด้านสมองเป็นผู้รับไว้ และให้การรักษาด้านสมองตั้งแต่เข้าโรงพยาบาล
            ผู้ป่วยมีประวัติเป็นเบาหวานมาประมาณ 5 ปี ไม่ได้รับประทานยาอะไร  คุมอาหารอย่างเดียว  น้ำตาลในเลือดก่อนอาหารตรวจได้ประมาณ 120 มก/ดล มาตลอด ซึ่งดูเหมือนว่าจะคุมได้ดี  ผู้ป่วยมีประวัติครอบครัวคุณแม่เป็นเบาหวาน และพี่สาวก็เป็นเบาหวาน  ปฏิเสธการกินยาลูกกลอนหรือสมุนไพร  ปฏิเสธการสูบบุหรี่และดื่มเหล้า
ผลเลือดวันแรกรับ  blood glucose (ไม่ได้อดอาหาร)    = 190 มก/ดล   ค่า BUN และ Cr (คือหน้าที่ไต) อยู่ในเกณฑ์ปกติ  ค่าฮีมาโตคริต (การตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง) 55.4% ซึ่งถือว่าสูงเกินเล็กน้อย  ค่าฮีโมโกลบิน (คือโปรทีนที่ทำหน้าที่จับออกซิเจนในเม็ดเลือดแดง) 18.1 กรัม% ซึ่งค่อนไปทางสูงเช่นกัน
ผล MRA brain (คือการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) พบมีรอยโรคที่แสดงถึงการตายอย่างเฉียบพลันของสมอง (acute infarction) ในส่วนที่เรียกว่า external capsule ข้างขวา และส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตแขนขาซีกซ้าย
ระหว่างที่อยู่โรงพยาบาล แพทย์ได้สั่งเจาะตรวจน้ำตาลในเลือดจากปลายนิ้วทุกเช้า ได้ค่าน้ำตาลในเลือดระหว่าง 114-127 มก/ดล โดยที่ไม่ได้ยาลดน้ำตาลในเลือด ไม่ว่าจะเป็นยาฉีดอินซูลินหรือยารับประทาน  ความดันโลหิตอยู่ระหว่าง 160-190/100-110 มม.ปรอท
หลังจากอยู่โรงพยาบาลได้ 2-3 วัน ได้ทำการตรวจเลือดอีกครั้ง พบว่า น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร 134 มก/ดล HbA1c 8.3%  ค่าของตับ (SGPT) ปกติ  ไขมันตัวไม่ดี (LDL-c) ได้ 94 มก/ดล  ไตรกลีเซอไรด์ ได้ 131 มก/ดล  ไขมันตัวดี (HDL-c) 35 มก/ดล
โดยสรุป สิ่งที่ผิดปกติ และประเด็นที่น่าสนใจของผู้ป่วยรายนี้คือ
1. ผู้ป่วยมีเส้นเลือดในสมองตีบและมีการตายของเนื้อสมองบางส่วนแล้ว ซึ่งยืนยันจากการทำ MRA brain  และเป็นสาเหตุทำให้มีอาการอัมพาตซีกซ้าย
2.   ความดันโลหิตสูง  ในคนปกติ ความดันโลหิตไม่ควรเกิน 140/90 มม.ปรอท  ในคนที่เป็นเบาหวาน ต้องการให้ความดันโลหิตประมาณ 130/80 มม.ปรอท
3.  เป็นเบาหวาน  ถึงแม้น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารตอนเช้าไม่สูงก็ตาม แต่ค่า HbA1c สูงมาก 8.3% (ปกติประมาณ 4-6%)
4.    ไขมันตัวไม่ดี (LDL-c) ได้ 94 มก/ดล ถึงแม้ไม่สูง (ในคนที่เป็นเบาหวาน ค่า LDL-c ไม่ควรเกิน 100 มก/ดล)  แต่ผู้ป่วยได้ยาลดไขมันอยู่  ซึ่งแสดงว่า ในภาวะปกติ (ที่ไม่ได้ยาลดไขมัน) LDL-c ควรสูงกว่านี้
5.    จำนวนเม็ดเลือดแดงค่อนไปทางสูง ถึงแม้จะไม่สูงเกินมาก

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยรายนี้คือ อัมพาตซีกซ้าย  อัมพาตเป็นผลที่เกิดจากเส้นเลือดในสมองตีบ  อะไรที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดขึ้น  ถ้าประมวลจากปัญหาผู้ป่วยรายนี้ พอสรุปสาเหตุที่ทำให้เกิดอัมพาตได้คือ
1. ความดันโลหิตสูง  ผู้ป่วยยังคุมความดันโลหิตไม่ได้ดี ขณะที่อยู่โรงพยาบาล ความดันโลหิตยังสูงอยู่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการตายของเนื้อสมองบางส่วนใหม่ๆ ยังไม่รีบลดความดันโลหิตให้ลงมาเร็วๆ เพราะอาจเกี่ยวกับเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลง  แต่ประเมินจากความดันโลหิตที่ผ่านมา น่าแสดงว่าเป็นความดันโลหิตสูงอยู่ด้วย  ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อหลอดเลือดแดงตีบ ซึ่งทำให้เกิดการตายของเนื้อสมองบางส่วนได้
2. เบาหวาน ผู้ป่วยมีประวัติเป็นเบาหวานมาประมาณ 5 ปีแล้ว รักษาโดยการควบคุมอาหารอย่างเดียว และบอกว่า น้ำตาลในเลือดอยู่ที่ประมาณ 120 มก/ดล  แม้ขณะอยู่ในโรงพยาบาล น้ำตาลในเลือดปลายนิ้วตอนเช้าก็ไม่สูงเช่นกัน  ถ้าดูเฉพาะน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารตอนเช้า จะเห็นว่าเบาหวานดูเหมือนคุมได้ดี ไม่น่ามีปัญหา  แต่ถ้าดูค่า HbA1c ที่สูง 8.3% จะเห็นว่าเบาหวานยังคุมได้ไม่ดี (เป้าหมาย HbA1c ต่ำกว่า 7%) ค่า HbA1c ที่สูงขึ้นสะท้อนถึงการแกว่งของน้ำตาลตลอดทั้งวัน และน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น น่าจะเป็นน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร  ค่า HbA1c ที่อยู่ในช่วงระหว่าง 7-8% เกินกว่าครึ่งหนึ่งมาจากน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร  เบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงของหลอดเลือดแดงตีบ เมื่อเบาหวานคุมไม่ดี โอกาสเกิดอัมพาตก็สูงขึ้น
3. ไขมันที่ไม่ดี (LDL-c) ถึงแม้ไม่สูงมาก เนื่องจากผู้ป่วยรับประทานยาลดไขมันอยู่ และฤทธิของยาทำให้ค่าของ LDL-c อยู่ที่ 94 มก/ดล ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เป้าหมายที่ต้องการ (คือต่ำกว่า 100 มก/ดล)  อย่างไรก็ตาม นั่นแสดงว่าปกติผู้ป่วยรายนี้มีไขมันสูงอยู่แล้ว  นอกจากนี้ ไขมันตัวดีคือ HDL-c ไม่สูง ค่อนไปทางต่ำ  เพราะฉะนั้น ถ้าดูจากค่าของไขมันในเลือดแล้ว ก็บอกได้ว่า ภาวะไขมันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอัมพาตได้ส่วนหนึ่ง
4. ผู้ป่วยมีดัชนีมวลกายเท่ากับ 30.8 กก.ต่อตารางเมตร ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ที่อ้วน จากการซักประวัติเพิ่มเติมจากญาติที่ใกล้ชิด ผู้ป่วยมีนอนกรนและหยุดหายใจเป็นบางช่วง แสดงว่าอาจมีอุดกั้นทางเดินหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งอยู่ในกลุ่มอาการที่เรียกว่า Sleep-apnea syndrome  ร่างกายจะขาดออกซิเจนเป็นบางช่วง และพยายามปรับตัวโดยเพิ่มการสร้างเม็ดเลือดแดงให้มากขึ้น และทำให้ค่าฮีโมโกลบินและฮีมาโตคริตค่อนไปทางสูง  ผลที่เกิดขึ้น ทำให้เลือดมีความเข้มข้นสูงขึ้น และเป็นปัจจัยหนึ่งต่อการเกิดอัมพาต
ประเมินจากความผิดปกติทั้งหมดที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยจัดอยู่ในกลุ่มอาการของเมตะบอลิค (Metabolic Syndrome) ซึ่งประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ประการคือ อ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง  ภาวะกลุ่มอาการของเมตะบอลิคเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของหลอดเลือดแดงตีบ (atherosclerosis) และทำให้มีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาต ได้สูงกว่าคนทั่วไป

     โดยสรุป ผู้ป่วยรายนี้มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างต่อการเกิดหลอดเลือดแดงตีบ และผลที่สุดก็เกิดอัมพาตซีกซ้าย ถึงแม้จะยังโชคดีที่อาการเป็นไม่มาก ยังรู้สึกตัว และช่วยตัวเองได้ดี  สิ่งสำคัญคือ ต่อไปผู้ป่วยจะต้องรักษาปัจจัยเสี่ยงต่างๆให้เข้มงวดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายที่ต้องการ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันในเรื่องการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายให้ได้ผลการรักษาตามที่ต้องการ  การรับประทานยาที่สม่ำเสมอ การมาตรวจตามนัดเพื่อประเมินผลการรักษาเป็นระยะๆ และการทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด ตลอดจนการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เหล่านี้ทั้งหมดมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขสบายมากขึ้น แม้จะเป็นอัมพาตก็ตาม


วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เรื่องของไขมัน ข้อเท็จจริง ตอนที่ 2

     ผมขอตัดต่อบางส่วนที่เกี่ยวกับโคเลสเตอรอลใน "แนวทางอาหารสำหรับคนอเมริกัน 2015-2020" ของ USDA (USDA Dietary Guidelines for Americans 2015-2020) เพื่อให้เห็นข้อความที่แท้จริงเป็นอย่างไร
Dietary Cholesterol
The body uses cholesterol for physiological and structural functions but makes more than enough for these purposes. Therefore, people do not need to obtain cholesterol through foods.
The Key Recommendation from the 2010 Dietary Guidelines to limit consumptionof dietary cholesterol to 300 mg per day is not included in the 2015 edition, but this change does not suggest that dietary cholesterol is no longer important to consider when building healthy eating patterns. As recommended by the IOM,[24] individuals should eat as little dietary cholesterol as possible while consuming a healthy eating pattern. In general, foods that are higher in dietary cholesterol, such as fatty meats and high-fat dairy products, are also higher in saturated fats. The USDA Food Patterns are limited in saturated fats, and because of the commonality of food sources of saturated fats and dietary cholesterol, the Patterns are also low in dietary cholesterol. 
     ชัดเจนครับในข้อความข้างต้น ข้อแนะนำนั้นได้บอกว่า โคเลสเตอรอลมีความสำคัญทั้งด้านสรีรวิทยาและโครงสร้างของร่างกาย แต่ร่างกายสามารถสร้างได้เพียงพอ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับโคเลสเตอรอลจากอาหาร ดังนั้น ข้อแนะนำอาหารในปี 2010 ที่กำหนดให้จำกัดการรับประทานโคเลสเตอรอลไม่เกิน 300 มก.ต่อวันจึงไม่กำหนดในข้อแนะนำอาหารในปี 2015 ฉบับนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่า โคเลสเตอรอลในอาหารไม่มีความสำคัญต่อไปอีกสำหรับการรับประทานอาหารสุขภาพ  IOM (คือ Institute Of Medicine - ผมขออนุญาตใช้คำว่า "สถาบันแพทยศาสตร์" เป็นองค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐในอเมริกา ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับคุณภาพ มาตรฐาน และระบบการแพทย์ของอเมริกา) ได้ให้คำแนะนำว่า "ควรรับประทานอาหารประเภทโคเลสเตอรอลให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ในอาหารสำหรับสุขภาพ"  โดยทั่วไปแล้ว อาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน และผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันสูงจะอุดมด้วยไขมันอิ่มตัว (saturated fat)  ซึ่ง USDA ได้แนะนำให้จำกัดการรับประทานไขมันอิ่มตัว แต่โดยที่อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง จะมีโคเลสเตอรอลสูงด้วย อาหารที่แนะนำจึงควรมีโคเลสเตอรอลต่ำ
     นั่นหมายความว่า ไม่ได้จำกัดการรับประทานโคเลสเตอรอล แต่ถ้ารับประทานโคเลสเตอรอลมาก จะได้รับไขมันอิ่มตัวมากไปด้วย ซึ่งตรงนี้ต่างหากที่ต้องจำกัดการรับประทานให้น้อยลง  ผมขออนุญาตลงแนวทางอาหารฯ ของ USDA ต่อ
Strong evidence from mostly prospective cohort studies but also randomized controlled trials has shown that eating patterns that include lower intake of dietary cholesterol are associated with reduced risk of CVD, and moderate evidence indicates that these eating patterns are associated with reduced risk of obesity. 
 Dietary cholesterol is found only in animal foods such as egg yolk, dairy products, shellfish, meats, and poultry. A few foods, notably egg yolks and some shellfish,are higher in dietary cholesterol but not saturated fats. Eggs and shellfish can be consumed along with a variety of other choices within and across the subgroup recommendations of the protein foods group. 
     แนวทางอาหารฯ ของ USDA ได้ระบุต่อไปอีกว่า มีหลักฐานการศึกษาชัดเจนว่า การรับประทานอาหารที่มีโคเลสเตอรอลต่ำลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease - CVD) และยังช่วยลดน้ำหนักได้ด้วย  อาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงพบได้ในไข่แดง ผลิตภัณฑ์นม หอย เนื้อสัตว์ และเป็ดไก่ อย่างไรก็ตาม ไข่แดงและหอย ถึงแม้จะมีโคเลสเตอรอลสูง แต่ไม่ใช่ไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งสามารถรับประทานได้ โดยคำนึงถึงความต้องการของสารอาหารโปรทีนด้วย

     จะเห็นได้ว่า แนวทางอาหารฯ ของ USDA ถึงแม้ไม่ได้จำกัดการรับประทานโคเลสเตอรอล แต่เน้นการระมัดระวังอาหารไขมันอิ่มตัว ซึ่งก็คือกลุ่มกรดไขมันอิ่มตัว (saturated fatty acid) นั่นเอง  USDA ได้กำหนดให้รับประทานอาหารไขมันชนิดอิ่มตัวได้ไม่เกิน 10% ของแคลอรี่ที่ได้รับต่อวัน และควรทดแทนด้วยไขมันที่ไม่อิ่มตัว  มีรายงานการศึกษาที่ระบุได้อย่างชัดเจนว่า การทดแทนการรับประทานไขมันอิ่มตัวด้วยไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (polyunsaturated fat หรือ PUFA) สามารถลดระดับโคเลสเตอรอลรวม (total cholesterol) และโคเลสเตอรอลความหนาแน่นต่ำ (LDL-cholesterol)ในเลือดได้ รวมทั้งลดความเสี่ยงการเกิดโรคและอัตราตาย จากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้  ถ้าทดแทนไขมันอิ่มตัวด้วยไขมันไม่อิ่มตัว 1 ตำแหน่ง (monounsaturated fat หรือ MUFA) ที่ได้จากพืช เช่น น้ำมันมะกอก ก็ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้เช่นกัน เพียงแต่ไม่ชัดเจนมากเหมือนการศึกษาด้วยไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง  การทดแทนไขมันอิ่มตัวด้วยคาร์โบฮัยเดรท สามารถลดค่าโคเลสเตอรอลรวม (total cholesterol) และ แอลดีแอลโคเลสเตอรอล (LDL-cholesterol) ในเลือดได้ แต่จะทำให้ค่าไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้น และเอชดีแอลโคเลสเตอรอล (HDL-cholesterol) ต่ำลง ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ  ดังนั้น ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวมากกว่าไขมันอิ่มตัว
     USDA ยังได้แนะนำให้จำกัดการได้รับ trans fat ไห้น้อยที่สุด  ไขมันทรานส์ (trans fat) พบในเนยเทียม (margarine) และผลิตภัณฑ์อาหารและขนมบางอย่าง  ไขมันทรานส์เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยส่วนหนึ่งจะเพิ่มค่าแอลดีแอลโคเลสเตอรอล (LDL-c) ในเลือดด้วย

     โดยสรุปแล้ว
     1. ร่างกายสร้างโคเลสเตอรอลได้เองมากพอโดยไม่ต้องพึ่งจากอาหาร โคเลสเตอรอลจากอาหารดูดซึมในลำไส้ได้น้อย ถ้าร่างกายได้รับโคเลสเตอรอลจากอาหารเพิ่มขึ้น การสร้างที่ตับก็จะลดลงไปด้วย
     2. โคเลสเตอรอลเป็นไขมันสัตว์ และไขมันสัตว์ส่วนใหญ่เป็นไขมันอิ่มตัว ซึ่งแนวทางอาหารฯ ของ USDA แนะนำให้จำกัดการบริโภคไขมันอิ่มตัว และทดแทนด้วยไขมันไม่อิ่มตัว ถ้ามองแต่โคเลสเตอรอลอย่างเดียวว่ารับประทานได้ จะทำให้ได้รับไขมันอิ่มตัวสูงขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงควรต้องจำกัดการบริโภคโคเลสเตอรอลด้วย ซึ่งในงานวิจัยพบว่า ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และลดน้ำหนักด้วย
      3. พยายามหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ หรือได้รับให้น้อยทีสุด เพราะมีส่วนเพิ่ม LDL-c และความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

     "เรื่องของไขมัน ข้อเท็จจริง" ได้จบในตอนที่ 2 ที่ผมได้อ้างถึงแนวทางอาหารฯ ของ USDA ที่เป็นต้นตอของข่าวเรื่องโคเลสเตอรอลมาตลอดปีกว่านี้ ผมไม่ทราบว่าได้ตอบคำถามหรือข้อสงสัยไปบ้างหรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ก็ขอให้ทุกท่านที่อ่านใช้วิจารณญาณเอง
     มีหลายเรื่องที่น่าทราบเกี่ยวกับอาหาร ผมอาจจะเขียนเรื่องอาหารต่ออีก ช่วยกันติดตามด้วยครับ

วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ภาพประกอบเรื่องของไขมัน





แสดงสูตรโครงสร้างของภาพของไตรกลีเซอไรด์ที่ประกอบด้วยกรดไขมัน 3 ตัวจับกับกลีเซอรอล


      ไตรกลีเซอไรด์เป็นแหล่งให้พลังงานที่สำคัญของร่างกาย  1 กรัมของไตรกลีเซอไรด์ (ไขมัน) ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี่ ขณะที่คาร์โบฮัยเดรทและโปรทีน 1 กรัม ให้พลังงานอย่างละ 4 กิโลแคลรี่  ไตรกลีเซอไรด์จะเก็บสะสมในรูปของเนื้อยื่อไขมัน (adipose tissue) ใต้ผิวหนังของร่างกาย หรือสะสมตามอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ เป็นต้น



โคเลสเตอรอลและวิตามินดี จัดอยู่ในกลุ่มลิพิด ประเภทสเตอรอยด์ 
และมีโครงสร้างคล้ายกัน เนื่องจากโคเลสเตรอลเป็นสารตั้งต้นของการสังเคราะห์วิตามินดี




     แสดงโครงสร้างของกรดไขมันที่ด้านหนึ่งเป็น carboxyl group (แสดงความเป็นกรด) เชื่อมต่อกับไฮโดรคาร์บอนที่มีจำนวนคาร์บอนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของกรดไขมัน  ในภาพด้านขวา แสดงการจับกันของคาร์บอนแต่ละตัวเป็นแบบพันธะเดี่ยว (single bond) ซึ่งเป็นกรดไขมันอิ่มตัว (saturated fatty acid)  ส่วนภาพด้านซ้าย จะมีพันธะคู่ (double bond) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว 1 ตำแหน่ง (monounsaturated fatty acid หรือ MUFA)



  ตัวอย่างโครงสร้างกรดไขมันไลโนเลอิก ที่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีพันธะคู่
(double bond) มากกว่า 1 ตำแหน่ง ซึ่งเรียกว่า polyunsaturated fatty acid หรือ PUFA



กรดไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัวในน้ำมันและอาหารประเภทต่างๆ




โครงสร้างของไลโปโหรทีน ส่วนแกนภายในจะประกอบด้วยไขมันที่ไม่ะลายน้ำ คือไตรกลีเซอไรด์ 
และโคเลสเตอรอลเอสเท่อร์ หุ้มด้วยส่วนเปลือกชั้นเดียวของฟอสโฟไลปิดที่แซมด้วยโคเลสเตอรอลอิสระ และพันด้วยอะโพโปรทีน ในระยะแรก ไตรกลีเซอไรด์จะมีจำนวนมาก ทำให้ไลโปโปรทีนมีขนาดเซลล์พองใหญ่ และความหนาแน่นต่ำ (คือไคโลไมครอน) เมื่อไหลเวียนในกระแสเลือด ไตรกลีเซอไรด์ถูกย่อยและปล่อยเข้าสู่เซลล์ที่ต้องการ ไตรกลีเซอไรด์ที่อยู่ภายในก็เหลือน้อยลง โคเลสเตอรอลก็มีอัตราส่วนเพิ่มขึ้น และเปลี่ยนเป็น LDL และ HDL ตามลำดับ ซึ่งขนาดเซลล์จะเล็กลง และความหนาแน่นของเซลล์ก็สูงขึ้น













































































     ภาพทั้ง 5 ข้างต้น แสดงถึงจำนวนของไตรกลีเซอไรด์ที่ลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อถูกย่อยสลายไป เปลี่ยนจาก chilomicron เป็น VLDL, LDL, และ HDL ทำให้อัตราส่วนของโคเลสเตอรอลสูงขึ้น โดยเฉพาะ LDL ที่เป็นไขมันตัวร้าย มีโคเลสเตอรอลภายในสูงถึง 50%

     ผู้ร้ายที่ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งคือ LDL-c การรับประทานอาหารเฉพาะโคเลสเตอรอลไม่ทำให้ LDL-c สูงขึ้น แต่การรับประทานอาหารไขมันอิ่มตัวสูงมีผลทำให้ LDL-c สูงขึ้นได้  แล้วโคเลสเตอรอลมาจากไขมันสัตว์ที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ?

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เรื่องของไขมัน ข้อเท็จจริง ตอนที่ 1

     ตั้งแต่ U.S. Departments of Health and Human Services (HHS) and U.S. Department of Agriculture (USDA) ได้ออกข้อกำหนดแนวทางอาหารสำหรับคนอเมริกัน เมื่อปี ค.ศ. 2015 (Dietary Guidelines for Americans 2015-2020) และไม่ได้กำหนดให้รับประทานโคเลสเตอรอลได้ไม่เกิน 300 มก./วัน ตามที่กำหนดไว้เดิมเมื่อปี 2010 ทำให้บางคนเกิดความสับสน และเข้าใจว่า ต่อไปนี้สามารถรับประทานไขมันโคเลสเตอรอลได้อย่างไม่จำกัด หลายท่านก็ยังลังเลใจ และไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร ผมเองก็ได้รับคำถามนี้เช่นกัน ทั้งการถามโดยตรง หรือในกลุ่มไลน์ ผมก็ขอถือโอกาสนี้คั่นเรื่องเบาหวานไว้ก่อน มาคุยเรื่องไขมันแทน
     เรื่องของไขมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และเข้าใจยาก ผมขออธิบายเริ่มต้นตั้งแต่ไขมันแต่ละประเภท


     คำว่า "ไขมัน" มีคำหลายคำที่มีความหมายคล้ายคลึงกัน หรือจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า "lipid" (ลิพิด) ซึ่งเป็นคำรวมของความหมายไขมัน ใกล้เคียงกับคำว่า "fat"  (ไขมันในภาษาไทย)  ลิพิดเป็นสารประกอบชีวภาพที่ลักษณะมัน มีคุณสมบัติไม่ละลายในน้ำ แต่ละลายได้ในตัวทำละลายอินทรีย์ (organic solvents) เช่น อัลกอฮอล์ อีเธอร์ คลอโรฟอร์ม เป็นต้น ลิพิดมีอยู่ได้หลายรูปแบบ เช่น ไขมัน (fats) น้ำมัน (oils) ขี้ผึ้ง (waxes) สเตอรอยด์ (steroids) และอื่นๆ  ลิพิดเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาหาร และยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของสิ่งมีชีวิต



     ไขมัน หรือ fat เป็นคำที่เราคุ้นเคยกัน ถือเป็นประเภทหนึ่งของลิพิด และเป็นหนึ่งในสามของสารอาหารหลัก คือ ไขมัน คาร์โบฮัยเดรท (แป้ง) และโปรทีน  ไขมันในทางเคมีคือ ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ซึ่งประกอบด้วยกรดไขมัน(fatty acid) 3 โมเลกุลเชื่อมต่อกับกลีเซอรอล 1 โมเลกุล (glycerol หรืออีกชื่อหนึ่งคือกลีเซอรีน - เป็นสารจำพวกอัลกอฮอล์ เรียกปฏิกิริยานี้ว่า esterification) สถานะของไขมันที่อุณหภูมิห้องมีทั้งของแข็งและของเหลว ขึ้นอยู่กับโครงสร้างและองค์ประกอบของกรดไขมัน โดยความหมาย "ลิพิด" หมายรวมถึงไขมันที่เป็นทั้งของแข็งและของเหลว  คำว่า "ไขมัน" หมายถึงไขมันที่เป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้อง ส่วน "น้ำมัน" ใช้กับไขมัน (ลิพิด) ที่เ่ป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง

     กรดไขมัน (fatty acid) เป็นกรดอินทรีย์ (organic acid) ที่ประกอบด้วยไฮโดรเจน คาร์บอน และออกซิเจน มีสูตรทั่วไปคือ R-COOH  ดังนั้น โครงสร้างของกรดไขมันจึงมีสองส่วน ด้านหนึ่งที่เรียกว่า คาร์บอกซิล ซึ่งแสดงความเป็นกรด ก็คือ -COOH และต่อกับส่วนของไฮโดรคาร์บอน (hydrocarbon) ที่ใช้สัญญลักษณ์ว่า R- ซึ่งจะมีจำนวนคาร์บอนแตกต่างไปแล้วแต่ชนิดกรดไขมัน กรดไขมันในอาหารจะมีจำนวนคาร์บอนเป็นเลขคู่ ประมาณ 4-24 อะตอม  กรดไขมันเป็นแหล่งสำคัญที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย เพราะการสลายกรดไขมัน จะให้พลังงานในรูปเอทีพี (ATP) ได้มากที่สุด  กรดไขมันเมื่อจับกับกลีเซอรอลก็จะเป็นไขมันกลีเซอไรด์ ซึ่งมี 3 ชนิดคือ โมโนกลีเซอไรด์ (monoglyceride - มีกรดไขมัน 1โมเลกุล) ไดกลีเซอไรด์ (diglyceride - มีกรดไขมัน 2 โมเลกุล) และ ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride - มีกรดไขมัน 3 โมเลกุล)  ดังนั้น ไขมันไตรกลีเซอไรด์เมื่อถูกเผาผลาญจะปล่อยกรดไขมันออกมาในกระแสเลือด
     กรดไขมันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของสารไขมันทั้งหลายที่มีความสำคัญด้านอาหาร กรดไขมันแบ่งได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของส่วนไฮโดรคาร์บอน (คือ R-) อาจจะแบ่งตามความยาว คือกรดไขมันยาวมาก (very long-chain คาร์บอนมากกว่า 22 ตัว) ยาว (long-chain คาร์บอน 13-21ตัว) ยาวปานกลาง (medium-chain คาร์บอน 6-12 ตัว) และ ประเภทสั้น (short-chain คาร์บอนน้อยกว่า 6 ตัว) หรืออาจจะแบ่งเป็น กรดไขมันอิ่มตัว (saturated fatty acid) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกรดไขมันประเภทยาว และเป็นพันธะเดี่ยว (single bond) ระหว่างสายคาร์บอน และกรดไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fatty acid) ซึ่งจะมีพันธะคู่ (double bond) ในระหว่างสายคาร์บอน ถ้ามีพันธะคู่ 1 ตำแหน่งก็เรียกเป็น monounsaturated fatty acid ถ้ามีตั้งแต่ 2 ตำแหน่งขึ้นไป ก็เป็น polyunsaturared fatty acid  กรดไขมันยังอาจแบ่งได้ตามความจำเป็นของร่างกายอีกด้วย ถ้าร่างกายสร้างเองไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหารอย่างเดียว เรียกว่า กรดไขมันจำเป็น (essential fatty acid) และกรดไขมันไม่จำเป็น (non-essential fatty acid) ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเองได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งจากกภายนอก
     กรดไขมันต่างๆเหล่านี้ มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของเรามาก เกี่ยวพันกับเรื่องของไขมันอิ่มตัวหรือไม่อื่มตัว การซึมผ่านเข้าสู่สมอง (blood-brain barrier) ประเภทของน้ำมันต่างๆ ผลกระทบต่อหลอดเลือด เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น โอเมก้า 3 ที่เป็นอาหารเสริมที่พวกเราคุ้นเคยกันดี ก็เป็นประเภทหนึ่งของกรดไขมัน

     โคเลสเตอรอล (cholesterol) เป็นไขมัน (ลิพิด) ประเภทหนึ่งที่มีโครงสร้างเป็นสเตอรอยด์ ไม่ใช่กรดไขมัน โคเลสเตอรอลถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ (cell membrane) ของเซลล์สัตว์ ที่ไม่มีผนังเซลล์ (cell wall) เหมือนเซลล์พืช และทำให้มีความยืดหยุ่นและเปลี่ยนรูปร่างได้  นอกจากนั้น โคเลสเตอรอลมีความสำคัญที่เป็นสารต้นตอของการสังเคราะห์ฮอร์โมนกลุ่มสเตอรอยด์ (รวมทั้งฮอร์โมนเพศ) และน้ำดี
     โคเลสเตอรอลสังเคราะห์ที่ตับเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีบ้างที่ลำไส้เล็ก ต่อมหมวกไต และอวัยวะสืบพันธุ์ สารตั้งต้นการสังเคราะห์โคเลสเตอรอลคือ อะเซทิลโคเอ (acetyl CoA) และผ่านกระบวนการหลายสิบขั้นตอนก่อนที่จะมาเป็นโคเลสเตอรอล  มีการศึกษาว่า ในผู้ชายที่น้ำหนัก 68 กก. (150 ปอนด์) ปริมาณโคเลสเตอรอลในร่างกายจะมีประมาณ 35 กรัม ในจำนวนนี้ ร่างกายสร้างขึ้นเองได้ 1 กรัมต่อวัน   โคเลสเตอรอลในอาหารที่รับประทานเข้าไปส่วนใหญ่อยู่ในรูปของโคเลสเตอรอลเอสเทอร์ (esterified cholesterol) ซึ่งจะถูกดูดซึมได้น้อย และไม่มีผลต่อค่าของไลโปโปรทีน (lipoprotein) อย่างมีนัยสำคัญ  ถ้าร่างกายได้รับโคเลสเตอรอลจากอาหารเพิ่มขึ้น ตับก็จะสร้างน้อยลง การรับประทานเนื้อสัตว์มาก ก็ไม่มีผลกระทบให้ค่าโคเลสเตอรอลสูงขึ้น  หลังจาก 7-10 ชั่วโมงหลังรับประทาน ค่าโคเลสเตอรอลในเลือดจะลดลงเหมือนเดิม ถึงแม้ภายใน 7 ชั่วโมงค่าจะสูงขึ้นได้ก็ตาม
    จากที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่โคเลสเตอรอลมาจากการสร้างในร่างกายเอง และมาจากอาหารเป็นเพียงส่วนน้อย โคเลสเตอรอลจึงมีวงจรการนำมาใช้ใหม่ (recycle) โดยตับจะขับโคเลสเตอรอลอิสระออกมากับน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็ก และดูดซึมกลับเข้าสู่ตับใหม่ทางลำไส้ โคเลสเตอรอลในลำไส้จะถูกดูดซึมได้ 15-75% โดยเฉลี่ยประมาณ 50% ที่เหลือถูกขับออกทางอุจจาระ  แต่โคเลสเตอรอลที่ถูกดูดซึมทางลำไส้ ส่วนใหญ่เป็นโคเลสเตอรอลอิสระที่ถูกขับมากับน้ำดี มาจากอาหารที่อยู่ในรูปของเอสเทอร์เป็นส่วนน้อย  อาหารแอทคิ่น (Atkin's food) ที่โด่งดังในการลดความอ้วน โดยเน้นการรับประทานอาหารโปรทีน จึงไม่มีผลทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น  คณะกรรมการของ USDA ได้ทบทวนแล้ว และเห็นว่า การรับประทานอาหารที่มีโคเลสเตอรอลไม่ได้สัมพันธ์กับค่าของโคเลสเตอรอลในเลือด ในปี 2015 จึงได้ยกเลิกการกำหนดให้รับประทานโคเลสเตอรอลได้ไม่เกิน 300 มก.ต่อวัน

     ไลโปโปรทีน (lipoprotein) เป็นโปรทีนที่ไหลเวียนอยู่ในพลาสม่าของเลือด โดยคุณสมบัติของลิพิดที่ไม่ละลายในน้ำ ไขมันไม่ว่าจะเป็นไตรกลีเซอไรด์หรือโคเลสเตอรอล จะให้ละลายอยู่ในกระแสเลือดได้ ต้องจับกับโปรทีนที่เรียกว่าอะโพโปรทีน (apoprotein) กลายเป็นไลโปโปรทีนที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดได้  ดังนั้น ไลโปโปรทีนจึงมีหน้าที่ในการขนส่งไขมันไตรกลีเซอไรด์และโคเลสเตอรอลไปยังอวัยวะต่างๆที่ต้องการ ที่สำคัญคือตับและเนื้อเยื่อไขมัน (adipose tissue)  ไลโปโปรทีนถูกสร้างขึ้นที่ลำไส้เล็กและตับ
     ไลโปโปรทีนมีรูปร่างทรงกลม (นึกถึงปิงปอง) ภายในจะประกอบด้วยไขมัน คือไตรกลีเซอไรด์ และโคเลสเตอรอล (ในรูปเอสเทอร์) ถูกหุ้มด้วยเปลือกชั้นเดียวของฟอสโฟลิพิด โคเลสเตอรอลที่อยู่ในรูปอิสระ และอะโพโปรทีน (apoprotein) ไลโปโปรทีนในพลาสม่ามีหลายรูปแบบ ทั้งรูปร่าง ขนาด และความหนาแน่น ทั้งนี้จะแตกต่างกันไปตามอัตราส่วนของไขมันที่อยู่ภายใน และชนิดของอะโพโปรทีนที่เปลี่ยนแปลงไปตามปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น  ถ้านำไลโปโปรทีนมาแบ่งแยกด้วยเครื่องปั่นความเร็วสูง (ultracentrifugation) ไลโปโปรทีนจะแบ่งออกได้ตามความหนาแน่น ที่มีความหนาแน่นต่ำจะลอยอยู่เบื้องบน ส่วนที่มีความหนาแน่นสูงจะอยู่ด้านล่าง ด้วยวิธีนี้ จะแบ่งไลโปโปรทีนได้ 4 ชนิดตามความหนาแน่นต่ำไปหาสูงคือ 
     1. ไคโลไมครอน (chylomicron)
     2. ไลโปโปรทีนความหนาแน่นต่ำมาก (very low density lipoprotein = VLDL)
     3. ไลโปโปรทีนความหนาแน่นต่ำ (low density lipoprotein = LDL)
     4. ไลโปโปรทีนความหนาแน่นสูง (high density lipoprotein = HDL)
     ปริมาณของไตรกลีเซอไรด์และโคเลสเตอรอลภายในไลโปโปรทีนเป็นตัวกำหนดความหนาแน่น ไคโลไมครอนจะมีจำนวนไตรกลีเซอไรด์มากที่สุด (คือมีไขมันมากทำให้เบาและขนาดเซลล์ใหญ่) และลดลงไปเรื่อยๆตามลำดับเมื่อไตรกลีเซอไรด์ถูกส่งต่อไปสู่เซลล์อื่นๆ และทำให้โคเลสเตอรอลเอสเท่อร์ที่ยังเหลืออยู่ภายในเสมือนมีจำนวนเพิ่มขึ้น (ทำให้ขนาดเซลล์เล็กลง และความหนาแน่นสูงขึ้นตามไปด้วย) เมื่อมาถึงระดับ LDL และ HDL ไขมันที่ยังเหลืออยู่ภายในไลโปโปรทีนจึงเป็นโคเลสเตอรอลมากกว่าไตรกลีเซอไรด์   โคเลสเตอรอลที่จับอยู่ในรูปไลโปโปรทีนนี้ จึงเรียกว่า เอชดีแอลโคเลสเตอรอล (HDL-c) และแอลดีแอลโคเลสเตอรอล (LDL-c)

     ผมเกริ่นปูเรื่องมาตั้งนานด้วยความยากลำบาก ทั้งคนอ่านและคนเขียน เพื่อพยายามให้เข้าใจที่มาที่ไปของไขมันต่างๆ ที่มีการกล่าวถึงบ่อยๆ  มาถึงตอนนี้ อาจจะคุ้นหูคุ้นตาบ้างแล้วกับคำว่า LDL-c และ HDL-c และคงยังพอจำได้ว่า LDL-c เป็นไขมันไม่ดี (bad cholesterol) ส่วน HDL-c เป็นไขมันที่ดี (good cholesterol)

     เรื่องของไขมันยังไม่จบง่ายๆ บอกแล้วว่าเป็นเรื่องซับซ้อน เข้าใจยาก ผมเชื่อว่า หลายคนอ่านถึงตอนนี้ อาจจะสับสน หรืองงมากขึ้น เพียงแค่นี้ เริ่มเห็นเลาๆหรือยังครับ ถ้าพูดคำว่าโคเลสเตอรอล หมายถึงโคเลสเตอรอลอย่างเดียว หรือไปปะปนกับ LDL-c ที่เป็นโคเลสเตอรอลเลว

    รออ่านต่อตอน 2 ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ประสบการณ์จากห้องตรวจ

     ผมขอนำบทความประสบการณ์จากห้องตรวจ ซึ่งผมเคยลงพิมพ์ใน "วารสารเบาหวาน" สมัยโน้น ถึงแม้จะ 10 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ ให้เข้าใจถึงลักษณะของโรคเบาหวาน ที่หลายท่านอาจจะไม่เข้าใจ หรือไม่ตระหนัก ถึงความเสี่ยงและความสำคัญของการวินิจฉัย และการดูแลรักษาเบาหวาน

     ตัวอย่างผู้ป่วยรายนี้น่าสนใจมาก และเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ของเบาหวานที่ลอบโจมตีอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว
     ผู้ป่วยรายนี้เป็นชาย รูปร่างดูแข็งแรง น้ำหนัก 70 กิโลกรัม รูปร่างท้วม (ไม่ทราบส่วนสูง) อายุเพิ่ง 41 ปีเท่านั้น ได้รับไว้ในโรงพยาบาลเมื่อประมาณปลายเดือนมิถุนายน 2548  ด้วยเรื่อง มีไข้สูง หนาวสั่น เจ็บคอมา 1 อาทิตย์  ซื้อยาจากร้านขายยารับประทาน ไข้ลดลงบ้าง แต่เจ็บคอไม่ดีขึ้น  1 วันก่อนมาโรงพยาบาล ลิ้นบวม เจ็บคอมากขึ้น กลืนไม่สะดวก เสียงเปลี่ยน รับประทานไม่ค่อยได้ เจ็บที่ใต้คางขวาและบวมแดง ยังมีไข้อยู่
ผู้ป่วยไม่มีประวัติเป็นเบาหวาน ตรวจเช็คสุขภาพทุกปี  ใน 1 เดือนมานี้ ปัสสาวะบ่อย กลางคืน 3-4 ครั้ง น้ำหนักลดลงเล็กน้อยประมาณ 1 กิโลกรัม หิวน้ำบ่อย หิวข้าวบ่อย
ผู้ป่วยได้มาตรวจที่แผนกหูคอจมูก และได้รับไว้ในโรงพยาบาล โดยผลการตรวจร่างกายแรกรับพบว่า ความดันโลหิต 130/80 มม.ปรอท ชีพจร 88 ครั้ง/นาที อุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียส (มีไข้ต่ำๆ)  บริเวณพื้นปากและลิ้นบวมแดง และบวมด้านขวามากกว่าด้านซ้าย มีก้อนบวมแดงเหมือนฝีที่ใต้คางด้านขวา กดเจ็บ ผู้ป่วยพูดไม่ชัดเนื่องจากอาการบวมของลิ้น และเจ็บ   การตรวจร่างกายอื่นๆไม่พบสิ่งผิดปกติ
            ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ:
1.      มีจำนวนนับเม็ดเลือดขาวในเลือดขึ้นสูง white blood count 14,300/ลูบ.มม (ปกติประมาณ 4,000-10,000/ลบ.มม.) และประเภทของเม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า โพลี่มอร์ฟหรือนิวโทรฟิล (polymorph หรือ neutrophil) สูงเด่นชัด (81.3%) ซึ่งแสดงว่ามีการติดเชื้อประเภทแบคทีเรีย
2.     น้ำตาลกลูโคสในเลือดขณะอดอาหารได้ 237 มก/ดล. ซึ่งสูงกว่าปกติ และถึงเกณฑ์วินิจฉัยได้ว่าเป็นเบาหวาน (มากกว่า 126 มก/ดล)
3.     ค่าไต ค่าตับ อยู่ในเกณฑ์ปกติ เกลือแร่ปกติ ซึ่งแสดงว่า ไม่มีโรคไต หรือโรคตับมาก่อน และไม่มีภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันจากเบาหวาน โดยเฉพาะภาวะกรดเกินจากสารคีโตน (แสดงว่าไม่ได้เป็นเบาหวานประเภทที่ 1) ตลอดจนไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดก็ปกติ
4.      อุลตร้าซาวนด์พบมีก้อนที่เห็นขอบเขตชัดเจนด้านขวาใต้ขากรรไกรล่าง และใต้ลิ้นขนาดประมาณ 2.6x4.1x4.7 ซม. ลักษณะก้อนคละกันทั้งเนื้อและน้ำ บริเวณส่วนกลางจะเป็นน้ำมากกว่า และพบต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณใต้คางด้วย
การวินิจฉัย         1. ฝีที่ใต้คางด้านขวา         2. เบาหวาน
การรักษาขณะที่อยู่โรงพยาบาล
1.      เกี่ยวกับเรื่องฝี ในครั้งแรก แพทย์ได้ใช้เข็มเจาะดูดดูก่อน ได้หนองออกมาเล็กน้อย นำไปย้อมพบแบคทีเรียชนิดแท่ง ติดสีแกรมลบ (gram negative bacilli) ได้สั่งยาปฏิชีวนะฉีดเข้าเส้น  ส่งตรวจฟัน ไม่พบความผิดปกติเกี่ยวกับฟัน  หลังจากน้ำตาลในเลือดลดลงด้วยยาฉีดอินซูลินแล้ว  ได้นำตัวผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัด เพื่อผ่าฝีเอาหนองออก และใส่สาย (drain) เพื่อเป็นทางระบายของหนอง  หลังผ่าตัด ผู้ป่วยดูสบายขึ้น ไม่ทรมานมากเหมือนตอนแรก  หนองที่ออกมา นำไปเพาะเชื้อ ขึ้นแบคทีเรีย ชนิดแท่งที่เรียกว่า Klebsiella pneumoniae
2.      เรื่องเบาหวาน แพทย์อายุรกรรมเบาหวานได้รักษาในระยะแรกด้วยยาฉีดอินซูลิน ให้น้ำตาลในเลือดลงได้เร็วขึ้น เพื่อเตรียมการผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ก็ตอบสนองต่อการรักษาได้ดี จนผ่าตัดได้ในเวลาอันรวดเร็ว  หลังผ่าตัด ยังคงใช้อินซูลินฉีดอยู่  เมื่อผู้ป่วยดีขึ้น รับประทานอาหารได้แล้ว ก็เปลี่ยนเป็นยารับประทาน  พร้อมกันนั้น ได้ให้วิทยากรเบาหวานมาให้ความรู้โรคเบาหวาน แนะนำการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย  ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลเพียงแค่ 3 วัน อาการดีขึ้นมาก และขอกลับไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลที่ได้สิทธิ์ประกันสังคม

จากประสบการณ์รายนี้ ได้เรียนรู้อะไรบ้าง
1.     เบาหวานจะเป็นขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ ทั้งๆที่ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ  รายนี้จัดอยู่ในเบาหวานประเภทที่ 2 เพราะน้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก อายุเข้าเกณฑ์ได้ และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันชนิดกรดเกินจากการคั่งของสารคีโตน ซึ่งจะพบได้บ่อยในผู้ที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 1 ที่มีภาวะเครียดหรือไม่สบายและเป็นไข้แบบนี้  ผู้ที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 2 อาการไม่เด่นชัดมาก หรือไม่มีอาการเลยก็ได้  ผู้ป่วยรายนี้มีอาการบ้างประมาณ 1 เดือนก่อนไม่สบาย (มีปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน หิวน้ำบ่อย และหิวอาหารบ่อย) แต่อาการเป็นไม่มากจนไม่ได้สังเกตว่านั่นคืออาการของเบาหวาน  ถึงแม้ผู้ป่วยไม่มีประวัติในครอบครัวเลยก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเบาหวานไม่ได้  เบาหวานอาจจะลอบโจมตีโดยไม่รู้ตัวเมื่อไหร่ก็ได้
2.       สิ่งที่น่าคิดคือว่า ถ้ารายนี้ไม่เป็นเบาหวาน จะเป็นฝีแบบนี้หรือไม่  ผู้ที่เป็นเบาหวานและไม่ได้รักษาให้ดี หรือไม่รู้ตัวมาก่อน จะมีความผิดปกติในหน้าที่ของเม็ดเลือดขาว ทำให้การกำจัดเชื้อโรคไม่ดีเหมือนคนปกติ  และหน้าที่นี้สัมพันธ์กับค่าน้ำตาลในเลือด นั่นคือถ้ารักษาเบาหวานไม่ดี ก็จะมีความบกพร่องในหน้าที่นี้ของเม็ดเลือดขาว แต่ถ้ารักษาเบาหวานได้ดี น้ำตาลในเลือดใกล้เคียงหรือเหมือนคนปกติ เม็ดเลือดขาวก็ทำหน้าที่ได้ตามปกติ เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าผู้ที่เป็นเบาหวานมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย และรุนแรงกว่าคนที่ไม่เป็น ขณะเดียวกัน ก็มีโอกาสติดเชื้อแบบแปลกๆหรือตำแหน่งที่คนปกติไม่ค่อยจะเป็นกัน อย่างเช่นรายนี้เป็นต้น  จุดเริ่มต้นอาจเป็นจากไข้เจ็บคอทั่วไป ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และเป็นโอกาสให้แบคทีเรียชนิดแท่งแกรมลบ (อาจมาจากเลือดหรือทางน้ำเหลือง) ซ้ำเติมต่อเนื้อเยื่อหรือต่อมน้ำเหลืองที่ตำแหน่งที่คอด้านขวานี้ และกลายเป็นฝีขึ้นมา  ถ้ารายนี้ไม่เป็นเบาหวานมาก่อน โอกาสจะเป็นฝีที่ตำแหน่งนี้น้อยมาก  เบาหวานที่ไม่ได้รักษามีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย รุนแรง และแปลกประหลาดกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็น
3.      การรักษาเบาหวานในรายนี้ตอบสนองได้ดีมากต่อยาฉีดอินซูลินในขนาดที่ไม่สูงมาก ซึ่งแสดงว่าเบาหวานอาจจะเป็นมาไม่นาน และร่างกายยังสามารถสร้างอินซูลินได้พอสมควร  ในรายที่เป็นมานานๆและมีภาวะดื้อต่ออินซูลินร่วมด้วย การตอบสนองต่อยาฉีดอินซูลินจะไม่ค่อยดี อาจต้องใช้ขนาดที่สูง หรือฉีดจำนวนครั้งมากขึ้น เพื่อให้น้ำตาลในเลือดลดลงได้ตามที่ต้องการ  คาดการณ์ว่าในรายนี้ เมื่อฝีหายดีแล้ว การควบคุมเบาหวานต่อไปข้างหน้าคงจะควบคุมได้ด้วยยาลดน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทาน หรือถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตัวได้ดี อาจจะควบคุมได้ด้วยอาหารและการออกกำลังกายเท่านั้นโดยไม่ต้องใช้ยาก็ได้  ยิ่งวินิจฉัยเบาหวานได้เร็ว โอกาสที่จะควบคุมได้ดียิ่งมีมากขึ้น
      
     จงอย่ามั่นใจว่า ตรวจร่างกายแล้วไม่พบเป็นเบาหวาน ก็ไม่ได้แสดงว่าจะเป็นเบาหวานอีกไม่ได้ การตรวจร่างกายทุกปี เพิ่มโอกาสให้วินิจฉัยเบาหวานได้เร็วขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง  ที่สำคัญคือ ไม่มีใครรู้ว่า จุดเริ่มต้นของโรค (เบาหวาน) เกิดขึ้นเมื่อไร

     ผู้ที่เป็นเบาหวานและไม่ยอมรักษา มีความเสี่ยงต่อการติดเขื้อได้มากกว่าบุคคลที่ไม่ได้เป็น


วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ใครที่ควรตรวจเบาหวาน (ตอนที่ 2)

     ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือที่เรียกว่า gestational diabetes mellitus (ตัวย่อ GDM)  หมายถึงความผิดปกติของน้ำตาลในเลือดที่ตรวจพบครั้งแรกในขณะตั้งครรภ์ ในกรณีนี้ หมายถึงสตรีนั้น ไม่มีประวัติเป็นเบาหวานมาก่อน แต่มาพบความผิดปกติของน้ำตาลในเลือดขณะตั้งครรภ์เมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรก
     ภาวะเบาหวานหรือความผิดปกติของน้ำตาลในเลือดที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ (GDM) เกิดจากความผิดปกติในการเผาผลาญน้ำตาลที่เป็นผลจากภาวะดื้อต่ออินซูลินที่เกิดขึ้นจากฮอร์โมนบางตัวที่สร้างจากรกขณะตั้งครรภ์ ซึ่งความผิดปกตินี้จะหายไปได้ทันทีหลังคลอดบุตร  แต่ถ้าหลังคลอดแล้ว ยังพบเป็นเบาหวานต่อเนื่อง แสดงว่า แม่เป็นเบาหวานประเภทที่ 2 ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ แต่ไม่ทราบหรือไม่เคยตรวจมาก่อน  ถ้าสตรีที่รักษาเบาหวานอยู่แล้ว และตั้งครรภ์ กรณีนี้ เราจะไม่เรียกว่า เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM) แต่เป็นการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยเบาหวาน  เพราะฉะนั้น การดูแลภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์จึงต้องติดตามดูว่า
     1. ถ้าแม่หลังคลอดบุตรแล้ว น้ำตาลในเลือดยังสูงอีก และต้องรักษาเบาหวานต่อเนื่อง แสดงว่า GDM นั้นเป็นเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์
     2. ถ้าหลังคลอดบุตรแล้ว น้ำตาลในเลือดกลับสู่ปกติ ไม่ต้องรักษาหรือดูแลเบาหวานอีก แสดงว่า แม่เป็น GDM  แท้ๆ ซึ่งกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานในอนาคต  มีรายงานว่า สตรีที่มีประวัติเป็น GDM มีโอกาสเป็นเบาหวานสุง 20-60% ในอีก 5-10 ปีหลังคลอดบุตร

     ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิด GDM นั้น พบว่า GDM มีโอกาสเกิดบ่อยขึ้นในผู้ที่มีภาวะต่อไปนี้
     1. อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
     2. สตรีที่อ้วนมากก่อนตั้งครรภ์ ดัชนีมวลกาย >30 กก./ตร.เมตร
     3. มีประวัติเบาหวานในครอบครัว
     4. มีประวัติเป็น GDM ในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน ถ้าตั้งครรภ์ครั้งต่อไปมีโอกาสเป็น GDM ถึง 60-70%
     5. มีประวัติการคลอดบุตรที่ผิดปกติ เช่น เด็กตัวโต น้ำหนักแรกคลอดเกินกว่า 4 กิโลกรัม, ทารกตายคลอด, ทารกมีความผิดปกติแต่กำเนิด, ครรภ์แฝดน้ำ (polyhydramnios), เป็นต้น
     6. ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะขณะตั้งครรภ์
     7. เป็นความดันโลหิตสูงมาก่อน หรือเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์
     8. ผู้ที่เป็นกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (polycystic ovary syndrom)

     การวินิจฉัยเบาหวานในคนตั้งครรภ์ ก็ใช้เกณฑ์เดียวกับการวินิจฉัยเบาหวาน (ดูเมื่อไหร่เป็นเบาหวาน) ควรตรวจคัดกรองเบาหวานตั้งแต่การฝากครรภ์ครั้งแรก  ถ้าตรวจพบว่าเป็นเบาหวานตั้งแต่ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ (ตามเกณฑ์การวินิจฉัยเบาหวาน) ก็น่าเชื่อว่า น่าจะเป็นเบาหวานประเภทที่ 2  สตรีที่ตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 25 ปี และไม่มีปัจจัยต่างๆข้างต้น เช่น ไม่อ้วน ไม่มีประวัติเบาหวานในครอบครัว ไม่พบน้ำตาลในปัสสาวะ เป็นต้น จะมีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ในกลุ่มที่เสี่ยงสูง (ตามหัวข้อข้างบน) ถึงแม้ใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์จะตรวจไม่พบความผิดปกติของน้ำตาลในเลือด ก็ควรตรวจคัดกรองซ้ำในอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์  The International Association of the Diabetes and Pregnancy Study Group (IADPSG) ได้เสนอเกณฑ์การคัดกรอง GDM ซึ่งสมาคมเบาหวานแห่งอเมริกาได้นำมาใช้เป็นมาตรฐานตั้งแต่ปีค.ศ. 2011 ด้วยวิธีการทดสอบความทนต่อกลูโคส 75 กรัม (75 gm. oral glucose tolerance test) ค่าน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (fasting) หลังดื่มกลูโคส 1ชั่วโมง และ 2 ชั่วโมง ไม่ควรเกิน 92, 180, และ 153 มก/ดล. ตามลำดับ ถ้ามีค่าใดค่าหนึ่งเกินกว่าที่กำหนดนี้ ก็ให้วินิจฉัยเป็น GDM ซึ่งผู้ที่เป็น GDM จะต้องได้รับการดูแลรักษาน้ำตาลอย่างเข้มงวด เพื่อประโยชน์ทั้งต่อตัวแม่และทารกในครรภ์ 
     หลังคลอดบุตร 6-12 สัปดาห์ ผู้ที่มีประวัติ GDM ควรได้รับการทดสอบความทนต่อกลูโคส 75 กรัมอีกครั้ง (ใช้เกณฑ์การวินิจฉัยเบาหวานตามปกติ) ถ้าไม่พบความผิดปกติในผลการทดสอบ (คือไม่ได้เป็นเบาหวาน หรือภาวะก่อนเบาหวาน) ก็ควรต้องตรวจคัดกรองเบาหวานทุก 3 ปีตลอดไป ถ้าเมื่อไหร่ตรวจพบว่า เป็นภาวะก่อนเบาหวาน ควรตรวจคัดกรองทุกปี และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อป้องกันการดำเนินโรคเป็นเบาหวานในอนาคต

     "ใครที่ควรตรวจเบาหวาน ตอนที่ 2" นี้ ลงเฉพาะกลุ่มสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง ที่ควรต้องตรวจคัดกรองเบาหวานอย่างต่อเนื่องระยะยาว และสามารถป้องกันการเกิดเบาหวานได้ ถ้าเข้าใจและดูแลรักษาตัวเองอย่างดี