วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ใครที่ควรตรวจเบาหวาน (ตอนที่ 2)

     ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือที่เรียกว่า gestational diabetes mellitus (ตัวย่อ GDM)  หมายถึงความผิดปกติของน้ำตาลในเลือดที่ตรวจพบครั้งแรกในขณะตั้งครรภ์ ในกรณีนี้ หมายถึงสตรีนั้น ไม่มีประวัติเป็นเบาหวานมาก่อน แต่มาพบความผิดปกติของน้ำตาลในเลือดขณะตั้งครรภ์เมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรก
     ภาวะเบาหวานหรือความผิดปกติของน้ำตาลในเลือดที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ (GDM) เกิดจากความผิดปกติในการเผาผลาญน้ำตาลที่เป็นผลจากภาวะดื้อต่ออินซูลินที่เกิดขึ้นจากฮอร์โมนบางตัวที่สร้างจากรกขณะตั้งครรภ์ ซึ่งความผิดปกตินี้จะหายไปได้ทันทีหลังคลอดบุตร  แต่ถ้าหลังคลอดแล้ว ยังพบเป็นเบาหวานต่อเนื่อง แสดงว่า แม่เป็นเบาหวานประเภทที่ 2 ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ แต่ไม่ทราบหรือไม่เคยตรวจมาก่อน  ถ้าสตรีที่รักษาเบาหวานอยู่แล้ว และตั้งครรภ์ กรณีนี้ เราจะไม่เรียกว่า เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM) แต่เป็นการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยเบาหวาน  เพราะฉะนั้น การดูแลภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์จึงต้องติดตามดูว่า
     1. ถ้าแม่หลังคลอดบุตรแล้ว น้ำตาลในเลือดยังสูงอีก และต้องรักษาเบาหวานต่อเนื่อง แสดงว่า GDM นั้นเป็นเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์
     2. ถ้าหลังคลอดบุตรแล้ว น้ำตาลในเลือดกลับสู่ปกติ ไม่ต้องรักษาหรือดูแลเบาหวานอีก แสดงว่า แม่เป็น GDM  แท้ๆ ซึ่งกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานในอนาคต  มีรายงานว่า สตรีที่มีประวัติเป็น GDM มีโอกาสเป็นเบาหวานสุง 20-60% ในอีก 5-10 ปีหลังคลอดบุตร

     ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิด GDM นั้น พบว่า GDM มีโอกาสเกิดบ่อยขึ้นในผู้ที่มีภาวะต่อไปนี้
     1. อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
     2. สตรีที่อ้วนมากก่อนตั้งครรภ์ ดัชนีมวลกาย >30 กก./ตร.เมตร
     3. มีประวัติเบาหวานในครอบครัว
     4. มีประวัติเป็น GDM ในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน ถ้าตั้งครรภ์ครั้งต่อไปมีโอกาสเป็น GDM ถึง 60-70%
     5. มีประวัติการคลอดบุตรที่ผิดปกติ เช่น เด็กตัวโต น้ำหนักแรกคลอดเกินกว่า 4 กิโลกรัม, ทารกตายคลอด, ทารกมีความผิดปกติแต่กำเนิด, ครรภ์แฝดน้ำ (polyhydramnios), เป็นต้น
     6. ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะขณะตั้งครรภ์
     7. เป็นความดันโลหิตสูงมาก่อน หรือเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์
     8. ผู้ที่เป็นกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (polycystic ovary syndrom)

     การวินิจฉัยเบาหวานในคนตั้งครรภ์ ก็ใช้เกณฑ์เดียวกับการวินิจฉัยเบาหวาน (ดูเมื่อไหร่เป็นเบาหวาน) ควรตรวจคัดกรองเบาหวานตั้งแต่การฝากครรภ์ครั้งแรก  ถ้าตรวจพบว่าเป็นเบาหวานตั้งแต่ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ (ตามเกณฑ์การวินิจฉัยเบาหวาน) ก็น่าเชื่อว่า น่าจะเป็นเบาหวานประเภทที่ 2  สตรีที่ตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 25 ปี และไม่มีปัจจัยต่างๆข้างต้น เช่น ไม่อ้วน ไม่มีประวัติเบาหวานในครอบครัว ไม่พบน้ำตาลในปัสสาวะ เป็นต้น จะมีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ในกลุ่มที่เสี่ยงสูง (ตามหัวข้อข้างบน) ถึงแม้ใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์จะตรวจไม่พบความผิดปกติของน้ำตาลในเลือด ก็ควรตรวจคัดกรองซ้ำในอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์  The International Association of the Diabetes and Pregnancy Study Group (IADPSG) ได้เสนอเกณฑ์การคัดกรอง GDM ซึ่งสมาคมเบาหวานแห่งอเมริกาได้นำมาใช้เป็นมาตรฐานตั้งแต่ปีค.ศ. 2011 ด้วยวิธีการทดสอบความทนต่อกลูโคส 75 กรัม (75 gm. oral glucose tolerance test) ค่าน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (fasting) หลังดื่มกลูโคส 1ชั่วโมง และ 2 ชั่วโมง ไม่ควรเกิน 92, 180, และ 153 มก/ดล. ตามลำดับ ถ้ามีค่าใดค่าหนึ่งเกินกว่าที่กำหนดนี้ ก็ให้วินิจฉัยเป็น GDM ซึ่งผู้ที่เป็น GDM จะต้องได้รับการดูแลรักษาน้ำตาลอย่างเข้มงวด เพื่อประโยชน์ทั้งต่อตัวแม่และทารกในครรภ์ 
     หลังคลอดบุตร 6-12 สัปดาห์ ผู้ที่มีประวัติ GDM ควรได้รับการทดสอบความทนต่อกลูโคส 75 กรัมอีกครั้ง (ใช้เกณฑ์การวินิจฉัยเบาหวานตามปกติ) ถ้าไม่พบความผิดปกติในผลการทดสอบ (คือไม่ได้เป็นเบาหวาน หรือภาวะก่อนเบาหวาน) ก็ควรต้องตรวจคัดกรองเบาหวานทุก 3 ปีตลอดไป ถ้าเมื่อไหร่ตรวจพบว่า เป็นภาวะก่อนเบาหวาน ควรตรวจคัดกรองทุกปี และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อป้องกันการดำเนินโรคเป็นเบาหวานในอนาคต

     "ใครที่ควรตรวจเบาหวาน ตอนที่ 2" นี้ ลงเฉพาะกลุ่มสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง ที่ควรต้องตรวจคัดกรองเบาหวานอย่างต่อเนื่องระยะยาว และสามารถป้องกันการเกิดเบาหวานได้ ถ้าเข้าใจและดูแลรักษาตัวเองอย่างดี






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น