วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เรื่องของไขมัน ข้อเท็จจริง ตอนที่ 1

     ตั้งแต่ U.S. Departments of Health and Human Services (HHS) and U.S. Department of Agriculture (USDA) ได้ออกข้อกำหนดแนวทางอาหารสำหรับคนอเมริกัน เมื่อปี ค.ศ. 2015 (Dietary Guidelines for Americans 2015-2020) และไม่ได้กำหนดให้รับประทานโคเลสเตอรอลได้ไม่เกิน 300 มก./วัน ตามที่กำหนดไว้เดิมเมื่อปี 2010 ทำให้บางคนเกิดความสับสน และเข้าใจว่า ต่อไปนี้สามารถรับประทานไขมันโคเลสเตอรอลได้อย่างไม่จำกัด หลายท่านก็ยังลังเลใจ และไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร ผมเองก็ได้รับคำถามนี้เช่นกัน ทั้งการถามโดยตรง หรือในกลุ่มไลน์ ผมก็ขอถือโอกาสนี้คั่นเรื่องเบาหวานไว้ก่อน มาคุยเรื่องไขมันแทน
     เรื่องของไขมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และเข้าใจยาก ผมขออธิบายเริ่มต้นตั้งแต่ไขมันแต่ละประเภท


     คำว่า "ไขมัน" มีคำหลายคำที่มีความหมายคล้ายคลึงกัน หรือจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า "lipid" (ลิพิด) ซึ่งเป็นคำรวมของความหมายไขมัน ใกล้เคียงกับคำว่า "fat"  (ไขมันในภาษาไทย)  ลิพิดเป็นสารประกอบชีวภาพที่ลักษณะมัน มีคุณสมบัติไม่ละลายในน้ำ แต่ละลายได้ในตัวทำละลายอินทรีย์ (organic solvents) เช่น อัลกอฮอล์ อีเธอร์ คลอโรฟอร์ม เป็นต้น ลิพิดมีอยู่ได้หลายรูปแบบ เช่น ไขมัน (fats) น้ำมัน (oils) ขี้ผึ้ง (waxes) สเตอรอยด์ (steroids) และอื่นๆ  ลิพิดเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาหาร และยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของสิ่งมีชีวิต



     ไขมัน หรือ fat เป็นคำที่เราคุ้นเคยกัน ถือเป็นประเภทหนึ่งของลิพิด และเป็นหนึ่งในสามของสารอาหารหลัก คือ ไขมัน คาร์โบฮัยเดรท (แป้ง) และโปรทีน  ไขมันในทางเคมีคือ ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ซึ่งประกอบด้วยกรดไขมัน(fatty acid) 3 โมเลกุลเชื่อมต่อกับกลีเซอรอล 1 โมเลกุล (glycerol หรืออีกชื่อหนึ่งคือกลีเซอรีน - เป็นสารจำพวกอัลกอฮอล์ เรียกปฏิกิริยานี้ว่า esterification) สถานะของไขมันที่อุณหภูมิห้องมีทั้งของแข็งและของเหลว ขึ้นอยู่กับโครงสร้างและองค์ประกอบของกรดไขมัน โดยความหมาย "ลิพิด" หมายรวมถึงไขมันที่เป็นทั้งของแข็งและของเหลว  คำว่า "ไขมัน" หมายถึงไขมันที่เป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้อง ส่วน "น้ำมัน" ใช้กับไขมัน (ลิพิด) ที่เ่ป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง

     กรดไขมัน (fatty acid) เป็นกรดอินทรีย์ (organic acid) ที่ประกอบด้วยไฮโดรเจน คาร์บอน และออกซิเจน มีสูตรทั่วไปคือ R-COOH  ดังนั้น โครงสร้างของกรดไขมันจึงมีสองส่วน ด้านหนึ่งที่เรียกว่า คาร์บอกซิล ซึ่งแสดงความเป็นกรด ก็คือ -COOH และต่อกับส่วนของไฮโดรคาร์บอน (hydrocarbon) ที่ใช้สัญญลักษณ์ว่า R- ซึ่งจะมีจำนวนคาร์บอนแตกต่างไปแล้วแต่ชนิดกรดไขมัน กรดไขมันในอาหารจะมีจำนวนคาร์บอนเป็นเลขคู่ ประมาณ 4-24 อะตอม  กรดไขมันเป็นแหล่งสำคัญที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย เพราะการสลายกรดไขมัน จะให้พลังงานในรูปเอทีพี (ATP) ได้มากที่สุด  กรดไขมันเมื่อจับกับกลีเซอรอลก็จะเป็นไขมันกลีเซอไรด์ ซึ่งมี 3 ชนิดคือ โมโนกลีเซอไรด์ (monoglyceride - มีกรดไขมัน 1โมเลกุล) ไดกลีเซอไรด์ (diglyceride - มีกรดไขมัน 2 โมเลกุล) และ ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride - มีกรดไขมัน 3 โมเลกุล)  ดังนั้น ไขมันไตรกลีเซอไรด์เมื่อถูกเผาผลาญจะปล่อยกรดไขมันออกมาในกระแสเลือด
     กรดไขมันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของสารไขมันทั้งหลายที่มีความสำคัญด้านอาหาร กรดไขมันแบ่งได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของส่วนไฮโดรคาร์บอน (คือ R-) อาจจะแบ่งตามความยาว คือกรดไขมันยาวมาก (very long-chain คาร์บอนมากกว่า 22 ตัว) ยาว (long-chain คาร์บอน 13-21ตัว) ยาวปานกลาง (medium-chain คาร์บอน 6-12 ตัว) และ ประเภทสั้น (short-chain คาร์บอนน้อยกว่า 6 ตัว) หรืออาจจะแบ่งเป็น กรดไขมันอิ่มตัว (saturated fatty acid) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกรดไขมันประเภทยาว และเป็นพันธะเดี่ยว (single bond) ระหว่างสายคาร์บอน และกรดไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fatty acid) ซึ่งจะมีพันธะคู่ (double bond) ในระหว่างสายคาร์บอน ถ้ามีพันธะคู่ 1 ตำแหน่งก็เรียกเป็น monounsaturated fatty acid ถ้ามีตั้งแต่ 2 ตำแหน่งขึ้นไป ก็เป็น polyunsaturared fatty acid  กรดไขมันยังอาจแบ่งได้ตามความจำเป็นของร่างกายอีกด้วย ถ้าร่างกายสร้างเองไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหารอย่างเดียว เรียกว่า กรดไขมันจำเป็น (essential fatty acid) และกรดไขมันไม่จำเป็น (non-essential fatty acid) ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเองได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งจากกภายนอก
     กรดไขมันต่างๆเหล่านี้ มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของเรามาก เกี่ยวพันกับเรื่องของไขมันอิ่มตัวหรือไม่อื่มตัว การซึมผ่านเข้าสู่สมอง (blood-brain barrier) ประเภทของน้ำมันต่างๆ ผลกระทบต่อหลอดเลือด เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น โอเมก้า 3 ที่เป็นอาหารเสริมที่พวกเราคุ้นเคยกันดี ก็เป็นประเภทหนึ่งของกรดไขมัน

     โคเลสเตอรอล (cholesterol) เป็นไขมัน (ลิพิด) ประเภทหนึ่งที่มีโครงสร้างเป็นสเตอรอยด์ ไม่ใช่กรดไขมัน โคเลสเตอรอลถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ (cell membrane) ของเซลล์สัตว์ ที่ไม่มีผนังเซลล์ (cell wall) เหมือนเซลล์พืช และทำให้มีความยืดหยุ่นและเปลี่ยนรูปร่างได้  นอกจากนั้น โคเลสเตอรอลมีความสำคัญที่เป็นสารต้นตอของการสังเคราะห์ฮอร์โมนกลุ่มสเตอรอยด์ (รวมทั้งฮอร์โมนเพศ) และน้ำดี
     โคเลสเตอรอลสังเคราะห์ที่ตับเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีบ้างที่ลำไส้เล็ก ต่อมหมวกไต และอวัยวะสืบพันธุ์ สารตั้งต้นการสังเคราะห์โคเลสเตอรอลคือ อะเซทิลโคเอ (acetyl CoA) และผ่านกระบวนการหลายสิบขั้นตอนก่อนที่จะมาเป็นโคเลสเตอรอล  มีการศึกษาว่า ในผู้ชายที่น้ำหนัก 68 กก. (150 ปอนด์) ปริมาณโคเลสเตอรอลในร่างกายจะมีประมาณ 35 กรัม ในจำนวนนี้ ร่างกายสร้างขึ้นเองได้ 1 กรัมต่อวัน   โคเลสเตอรอลในอาหารที่รับประทานเข้าไปส่วนใหญ่อยู่ในรูปของโคเลสเตอรอลเอสเทอร์ (esterified cholesterol) ซึ่งจะถูกดูดซึมได้น้อย และไม่มีผลต่อค่าของไลโปโปรทีน (lipoprotein) อย่างมีนัยสำคัญ  ถ้าร่างกายได้รับโคเลสเตอรอลจากอาหารเพิ่มขึ้น ตับก็จะสร้างน้อยลง การรับประทานเนื้อสัตว์มาก ก็ไม่มีผลกระทบให้ค่าโคเลสเตอรอลสูงขึ้น  หลังจาก 7-10 ชั่วโมงหลังรับประทาน ค่าโคเลสเตอรอลในเลือดจะลดลงเหมือนเดิม ถึงแม้ภายใน 7 ชั่วโมงค่าจะสูงขึ้นได้ก็ตาม
    จากที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่โคเลสเตอรอลมาจากการสร้างในร่างกายเอง และมาจากอาหารเป็นเพียงส่วนน้อย โคเลสเตอรอลจึงมีวงจรการนำมาใช้ใหม่ (recycle) โดยตับจะขับโคเลสเตอรอลอิสระออกมากับน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็ก และดูดซึมกลับเข้าสู่ตับใหม่ทางลำไส้ โคเลสเตอรอลในลำไส้จะถูกดูดซึมได้ 15-75% โดยเฉลี่ยประมาณ 50% ที่เหลือถูกขับออกทางอุจจาระ  แต่โคเลสเตอรอลที่ถูกดูดซึมทางลำไส้ ส่วนใหญ่เป็นโคเลสเตอรอลอิสระที่ถูกขับมากับน้ำดี มาจากอาหารที่อยู่ในรูปของเอสเทอร์เป็นส่วนน้อย  อาหารแอทคิ่น (Atkin's food) ที่โด่งดังในการลดความอ้วน โดยเน้นการรับประทานอาหารโปรทีน จึงไม่มีผลทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น  คณะกรรมการของ USDA ได้ทบทวนแล้ว และเห็นว่า การรับประทานอาหารที่มีโคเลสเตอรอลไม่ได้สัมพันธ์กับค่าของโคเลสเตอรอลในเลือด ในปี 2015 จึงได้ยกเลิกการกำหนดให้รับประทานโคเลสเตอรอลได้ไม่เกิน 300 มก.ต่อวัน

     ไลโปโปรทีน (lipoprotein) เป็นโปรทีนที่ไหลเวียนอยู่ในพลาสม่าของเลือด โดยคุณสมบัติของลิพิดที่ไม่ละลายในน้ำ ไขมันไม่ว่าจะเป็นไตรกลีเซอไรด์หรือโคเลสเตอรอล จะให้ละลายอยู่ในกระแสเลือดได้ ต้องจับกับโปรทีนที่เรียกว่าอะโพโปรทีน (apoprotein) กลายเป็นไลโปโปรทีนที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดได้  ดังนั้น ไลโปโปรทีนจึงมีหน้าที่ในการขนส่งไขมันไตรกลีเซอไรด์และโคเลสเตอรอลไปยังอวัยวะต่างๆที่ต้องการ ที่สำคัญคือตับและเนื้อเยื่อไขมัน (adipose tissue)  ไลโปโปรทีนถูกสร้างขึ้นที่ลำไส้เล็กและตับ
     ไลโปโปรทีนมีรูปร่างทรงกลม (นึกถึงปิงปอง) ภายในจะประกอบด้วยไขมัน คือไตรกลีเซอไรด์ และโคเลสเตอรอล (ในรูปเอสเทอร์) ถูกหุ้มด้วยเปลือกชั้นเดียวของฟอสโฟลิพิด โคเลสเตอรอลที่อยู่ในรูปอิสระ และอะโพโปรทีน (apoprotein) ไลโปโปรทีนในพลาสม่ามีหลายรูปแบบ ทั้งรูปร่าง ขนาด และความหนาแน่น ทั้งนี้จะแตกต่างกันไปตามอัตราส่วนของไขมันที่อยู่ภายใน และชนิดของอะโพโปรทีนที่เปลี่ยนแปลงไปตามปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น  ถ้านำไลโปโปรทีนมาแบ่งแยกด้วยเครื่องปั่นความเร็วสูง (ultracentrifugation) ไลโปโปรทีนจะแบ่งออกได้ตามความหนาแน่น ที่มีความหนาแน่นต่ำจะลอยอยู่เบื้องบน ส่วนที่มีความหนาแน่นสูงจะอยู่ด้านล่าง ด้วยวิธีนี้ จะแบ่งไลโปโปรทีนได้ 4 ชนิดตามความหนาแน่นต่ำไปหาสูงคือ 
     1. ไคโลไมครอน (chylomicron)
     2. ไลโปโปรทีนความหนาแน่นต่ำมาก (very low density lipoprotein = VLDL)
     3. ไลโปโปรทีนความหนาแน่นต่ำ (low density lipoprotein = LDL)
     4. ไลโปโปรทีนความหนาแน่นสูง (high density lipoprotein = HDL)
     ปริมาณของไตรกลีเซอไรด์และโคเลสเตอรอลภายในไลโปโปรทีนเป็นตัวกำหนดความหนาแน่น ไคโลไมครอนจะมีจำนวนไตรกลีเซอไรด์มากที่สุด (คือมีไขมันมากทำให้เบาและขนาดเซลล์ใหญ่) และลดลงไปเรื่อยๆตามลำดับเมื่อไตรกลีเซอไรด์ถูกส่งต่อไปสู่เซลล์อื่นๆ และทำให้โคเลสเตอรอลเอสเท่อร์ที่ยังเหลืออยู่ภายในเสมือนมีจำนวนเพิ่มขึ้น (ทำให้ขนาดเซลล์เล็กลง และความหนาแน่นสูงขึ้นตามไปด้วย) เมื่อมาถึงระดับ LDL และ HDL ไขมันที่ยังเหลืออยู่ภายในไลโปโปรทีนจึงเป็นโคเลสเตอรอลมากกว่าไตรกลีเซอไรด์   โคเลสเตอรอลที่จับอยู่ในรูปไลโปโปรทีนนี้ จึงเรียกว่า เอชดีแอลโคเลสเตอรอล (HDL-c) และแอลดีแอลโคเลสเตอรอล (LDL-c)

     ผมเกริ่นปูเรื่องมาตั้งนานด้วยความยากลำบาก ทั้งคนอ่านและคนเขียน เพื่อพยายามให้เข้าใจที่มาที่ไปของไขมันต่างๆ ที่มีการกล่าวถึงบ่อยๆ  มาถึงตอนนี้ อาจจะคุ้นหูคุ้นตาบ้างแล้วกับคำว่า LDL-c และ HDL-c และคงยังพอจำได้ว่า LDL-c เป็นไขมันไม่ดี (bad cholesterol) ส่วน HDL-c เป็นไขมันที่ดี (good cholesterol)

     เรื่องของไขมันยังไม่จบง่ายๆ บอกแล้วว่าเป็นเรื่องซับซ้อน เข้าใจยาก ผมเชื่อว่า หลายคนอ่านถึงตอนนี้ อาจจะสับสน หรืองงมากขึ้น เพียงแค่นี้ เริ่มเห็นเลาๆหรือยังครับ ถ้าพูดคำว่าโคเลสเตอรอล หมายถึงโคเลสเตอรอลอย่างเดียว หรือไปปะปนกับ LDL-c ที่เป็นโคเลสเตอรอลเลว

    รออ่านต่อตอน 2 ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น