วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ใครที่ควรตรวจเบาหวาน

     "ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงของเบาหวาน"

     "กลัวเป็นเบาหวาน ไปตรวจเมื่อไหร่ดี"

     "ตรวจเลือดแล้ว ยังไม่เป็นเบาหวาน ควรไปตรวจบ่อยแค่ไหน" 

     สมาคมเบาหวานแห่งอเมริกา (American Diabetes Association) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้ออก แนวทางการปฏิบัติทางคลินิก (clinical practice guideline) สำหรับเป็นมาตรฐานการดูแลรักษาเบาหวานทุกปี และนิยมอ้างอิงกันทั่วโลก ได้กำหนดการคัดกรองเบาหวานไว้คือ
                                                                                                                                                             
     
     เกณฑ์การตรวจคัดกรองเบาหวานหรือภาวะก่อนเบาหวานในผู้ใหญ่


     1. ผู้ใหญ่ที่อยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน (overweight) โดยคิดจากดัชนีมวลกาย (body mass index - BMI) ที่มาก กว่า 25 กก./ตร.ม.ในคนอเมริกัน (หรือในยุโรป) และมากกว่า 23 กก./ตร.ม.ในคนเอเซีย ที่มีปัจจัยต่อไปนี้ร่วมด้วย
          - การไม่ออกกำลังกาย
          - ประวัติเบาหวานในครอบครัว เช่น พ่อ หรือ แม่ หรือทั้งพ่อและแม่ เป็นเบาหวาน
          - ผู้หญิงที่มีลูกน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม (หรือ 9 ปอนด์) หรือมีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes)
          - ผู้ที่มีความดันโลหิตมากกว่า 140/90 มม.ปรอท หรือรักษาความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว
          - ผู้ที่มีระดับไขมันผิดปกติ (dyslipidemia) คือไขมันเอชดีแอล (HDL - คือไขมันที่ดี) <35 มก/ดล. และ/หรือ ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) >250 มก/ดล.
          - ผู้ที่ตรวจเลือดพบว่า A1c >5.7 หรืออยู่ในภาวะก่อนเบาหวาน (ดูหัวข้อเรื่องภาวะก่อนเบาหวาน)
          - ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจ (cardiovascular disease)
          - ผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (polycystic ovary syndrome)
          - ลักษณะทางคลินิกที่เกิดร่วมกับ  "ภาวะดื้อต่ออินซูลิน" (insulin resistance) ที่พบได้คือ อ้วนมาก (severe obesity) และภาวะ acanthosis nigricans (เป็นรอยดำ หนา ผิวคล้ำ ขรุขระ บริเวณคอ บางคนเรียกผิวหนังช้าง พบได้บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ โดยเฉพาะในคนที่อ้วนมาก)
          - เชื้อชาติที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อัฟริกันอเมริกัน, ละติน, อินเดียนแดง, ชนกลุ่มหมู่เกาะแปซิฟิก เป็นต้น

     2. ควรจะตรวจตั้งแต่อายุ 45 ปีเป็นต้นไป

     3. ถ้าผลตรวจปกติ ควรจะตรวจคัดกรองอย่างน้อยทุก 3 ปี หรือแล้วแต่ปัจจัยเสี่ยง หรือผลการตรวจครั้งแรก เช่น ภาวะก่อนเบาหวานควรตรวจทุกปี
                                                                                                                                                             
   
     จากเกณฑ์การตรวจคัดกรองเบาหวานนี้ จะเห็นว่า ยึดดัชนีมวลกาย และอายุที่มากกว่า 45 ปีเป็นหลัก ดัชนีมวลกายเป็นอัตราส่วนของน้ำหนักตัวต่อส่วนสูง คำนวณจากน้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง (หรือตารางเมตร) นั่นคือ
  
                            ดัชนีมวลกาย (BMI)        =                 น้ำหนัก   (กก.)      
                                                                                   (สูง) x (สูง)  (เมตร)

     ในประเทศแถบตะวันตก ได้กำหนดดัชนีมวลกายของน้ำหนักคนปกติอยู่ที่ 18.5-24.9 กก./ตร.ม. ถ้าน้อยกว่า 18.5 ถือว่าน้ำหนักน้อยเกินไป ถ้าอยู่ระหว่าง 25-29.9 เรียกว่า น้ำหนักเกิน (overweight) และถ้ามากกว่า 30 ขึ้นไป เรียกว่า อ้วน (obesity)  แต่คนเอเซีย ซึ่งมีโครงสร้างของรูปร่างเล็กกว่า ตัดค่าดัชนีมวลกายที่ 23 นั่นคือ น้ำหนักปกติดัชนีมวลกายอยู่ที่ 18.5-22.9 น้ำหนักเกิน 23-24.9 และอ้วน ดัชนีมวลกายมากกว่า 25 ขึ้นไป
     ลองคำนวณดัชนีมวลกายของตัวเองดูครับว่าได้เท่าไหร่ และอยู่ในกลุ่มไหน ปัจจัยเสี่ยงที่จะพบร่วมได้บ่อยคือ ประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน ทุกคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ถ้ามีน้ำหนักเกินหรืออ้วนร่วมด้วย ก็มีโอกาสเป็นเบาหวานสูงขึ้น และเป็นข้อคำนึงที่ควรตรวจเบาหวาน
     ปัจจัยที่อาจจะไม่ได้คาดคิด คือการไม่ออกกำลังกาย ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของการเกิดเบาหวาน นอกจากนั้น คนที่เป็นความดันโลหิตสูง และ/หรือ ไขมันในเลือดผิดปกติ (ตามเกณฑ์ข้างบน) ถึงแม้เคยตรวจเลือดแล้วว่ายังไม่เป็นเบาหวานขณะนั้น ก็ไม่ควรประมาทหรือชะล่าใจ ควรต้องตรวจเบาหวานเป็นระยะๆด้วย เพราะมีโอกาสเป็นเบาหวานได้ในระยะต่อมา เนื่องจากความดันสูง ไขมันผิดปกติ และเบาหวานอยู่ในกลุ่มอาการของเมตะบอลิค ที่อาจจะมีพยาธิกำเนิดเดียวกัน ยิ่งสูงวัยขึ้น โอกาสเป็นเบาหวานก็สูงขึ้น
     ภาวะก่อนเบาหวานและเบาหวาน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจ ในบางครั้ง พยาธิสภาพของหลอดเลือดหัวใจรุนแรงจนเกิดเป็นโรคหัวใจขึ้นก่อนการดำเนินโรคของเบาหวาน ทำให้พบคนไข้โรคหัวใจบางคนเป็นเบาหวานตามหลัง หรืออาจจะเป็นโรคหัวใจในขณะที่อยู่ในภาวะก่อนเบาหวานที่ตรวจไม่พบ และดำเนินโรคเป็นเบาหวานในภายหลัง
     เพราะฉะนั้น คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ (ตามเกณฑ์ข้างบน) หรือโรคหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นโรคเดียวโดดๆ หรือร่วมกันมากกว่า 1 โรค ควรจะตรวจคัดกรองเบาหวานทุกปี ถือเป็นการตรวจสุขภาพประจำปีไปในตัวด้วย เพราะถ้าเป็นเบาหวานร่วมด้วย คุณภาพชีวิต การพยากรณ์โรคจะเปลี่ยนไป

     (เพื่อไม่ให้ยาวเกินไป ขออนุญาตต่อตอนที่ 2 ครับ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น