วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เรื่องของไขมัน ข้อเท็จจริง ตอนที่ 2

     ผมขอตัดต่อบางส่วนที่เกี่ยวกับโคเลสเตอรอลใน "แนวทางอาหารสำหรับคนอเมริกัน 2015-2020" ของ USDA (USDA Dietary Guidelines for Americans 2015-2020) เพื่อให้เห็นข้อความที่แท้จริงเป็นอย่างไร
Dietary Cholesterol
The body uses cholesterol for physiological and structural functions but makes more than enough for these purposes. Therefore, people do not need to obtain cholesterol through foods.
The Key Recommendation from the 2010 Dietary Guidelines to limit consumptionof dietary cholesterol to 300 mg per day is not included in the 2015 edition, but this change does not suggest that dietary cholesterol is no longer important to consider when building healthy eating patterns. As recommended by the IOM,[24] individuals should eat as little dietary cholesterol as possible while consuming a healthy eating pattern. In general, foods that are higher in dietary cholesterol, such as fatty meats and high-fat dairy products, are also higher in saturated fats. The USDA Food Patterns are limited in saturated fats, and because of the commonality of food sources of saturated fats and dietary cholesterol, the Patterns are also low in dietary cholesterol. 
     ชัดเจนครับในข้อความข้างต้น ข้อแนะนำนั้นได้บอกว่า โคเลสเตอรอลมีความสำคัญทั้งด้านสรีรวิทยาและโครงสร้างของร่างกาย แต่ร่างกายสามารถสร้างได้เพียงพอ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับโคเลสเตอรอลจากอาหาร ดังนั้น ข้อแนะนำอาหารในปี 2010 ที่กำหนดให้จำกัดการรับประทานโคเลสเตอรอลไม่เกิน 300 มก.ต่อวันจึงไม่กำหนดในข้อแนะนำอาหารในปี 2015 ฉบับนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่า โคเลสเตอรอลในอาหารไม่มีความสำคัญต่อไปอีกสำหรับการรับประทานอาหารสุขภาพ  IOM (คือ Institute Of Medicine - ผมขออนุญาตใช้คำว่า "สถาบันแพทยศาสตร์" เป็นองค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐในอเมริกา ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับคุณภาพ มาตรฐาน และระบบการแพทย์ของอเมริกา) ได้ให้คำแนะนำว่า "ควรรับประทานอาหารประเภทโคเลสเตอรอลให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ในอาหารสำหรับสุขภาพ"  โดยทั่วไปแล้ว อาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน และผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันสูงจะอุดมด้วยไขมันอิ่มตัว (saturated fat)  ซึ่ง USDA ได้แนะนำให้จำกัดการรับประทานไขมันอิ่มตัว แต่โดยที่อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง จะมีโคเลสเตอรอลสูงด้วย อาหารที่แนะนำจึงควรมีโคเลสเตอรอลต่ำ
     นั่นหมายความว่า ไม่ได้จำกัดการรับประทานโคเลสเตอรอล แต่ถ้ารับประทานโคเลสเตอรอลมาก จะได้รับไขมันอิ่มตัวมากไปด้วย ซึ่งตรงนี้ต่างหากที่ต้องจำกัดการรับประทานให้น้อยลง  ผมขออนุญาตลงแนวทางอาหารฯ ของ USDA ต่อ
Strong evidence from mostly prospective cohort studies but also randomized controlled trials has shown that eating patterns that include lower intake of dietary cholesterol are associated with reduced risk of CVD, and moderate evidence indicates that these eating patterns are associated with reduced risk of obesity. 
 Dietary cholesterol is found only in animal foods such as egg yolk, dairy products, shellfish, meats, and poultry. A few foods, notably egg yolks and some shellfish,are higher in dietary cholesterol but not saturated fats. Eggs and shellfish can be consumed along with a variety of other choices within and across the subgroup recommendations of the protein foods group. 
     แนวทางอาหารฯ ของ USDA ได้ระบุต่อไปอีกว่า มีหลักฐานการศึกษาชัดเจนว่า การรับประทานอาหารที่มีโคเลสเตอรอลต่ำลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease - CVD) และยังช่วยลดน้ำหนักได้ด้วย  อาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงพบได้ในไข่แดง ผลิตภัณฑ์นม หอย เนื้อสัตว์ และเป็ดไก่ อย่างไรก็ตาม ไข่แดงและหอย ถึงแม้จะมีโคเลสเตอรอลสูง แต่ไม่ใช่ไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งสามารถรับประทานได้ โดยคำนึงถึงความต้องการของสารอาหารโปรทีนด้วย

     จะเห็นได้ว่า แนวทางอาหารฯ ของ USDA ถึงแม้ไม่ได้จำกัดการรับประทานโคเลสเตอรอล แต่เน้นการระมัดระวังอาหารไขมันอิ่มตัว ซึ่งก็คือกลุ่มกรดไขมันอิ่มตัว (saturated fatty acid) นั่นเอง  USDA ได้กำหนดให้รับประทานอาหารไขมันชนิดอิ่มตัวได้ไม่เกิน 10% ของแคลอรี่ที่ได้รับต่อวัน และควรทดแทนด้วยไขมันที่ไม่อิ่มตัว  มีรายงานการศึกษาที่ระบุได้อย่างชัดเจนว่า การทดแทนการรับประทานไขมันอิ่มตัวด้วยไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (polyunsaturated fat หรือ PUFA) สามารถลดระดับโคเลสเตอรอลรวม (total cholesterol) และโคเลสเตอรอลความหนาแน่นต่ำ (LDL-cholesterol)ในเลือดได้ รวมทั้งลดความเสี่ยงการเกิดโรคและอัตราตาย จากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้  ถ้าทดแทนไขมันอิ่มตัวด้วยไขมันไม่อิ่มตัว 1 ตำแหน่ง (monounsaturated fat หรือ MUFA) ที่ได้จากพืช เช่น น้ำมันมะกอก ก็ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้เช่นกัน เพียงแต่ไม่ชัดเจนมากเหมือนการศึกษาด้วยไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง  การทดแทนไขมันอิ่มตัวด้วยคาร์โบฮัยเดรท สามารถลดค่าโคเลสเตอรอลรวม (total cholesterol) และ แอลดีแอลโคเลสเตอรอล (LDL-cholesterol) ในเลือดได้ แต่จะทำให้ค่าไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้น และเอชดีแอลโคเลสเตอรอล (HDL-cholesterol) ต่ำลง ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ  ดังนั้น ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวมากกว่าไขมันอิ่มตัว
     USDA ยังได้แนะนำให้จำกัดการได้รับ trans fat ไห้น้อยที่สุด  ไขมันทรานส์ (trans fat) พบในเนยเทียม (margarine) และผลิตภัณฑ์อาหารและขนมบางอย่าง  ไขมันทรานส์เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยส่วนหนึ่งจะเพิ่มค่าแอลดีแอลโคเลสเตอรอล (LDL-c) ในเลือดด้วย

     โดยสรุปแล้ว
     1. ร่างกายสร้างโคเลสเตอรอลได้เองมากพอโดยไม่ต้องพึ่งจากอาหาร โคเลสเตอรอลจากอาหารดูดซึมในลำไส้ได้น้อย ถ้าร่างกายได้รับโคเลสเตอรอลจากอาหารเพิ่มขึ้น การสร้างที่ตับก็จะลดลงไปด้วย
     2. โคเลสเตอรอลเป็นไขมันสัตว์ และไขมันสัตว์ส่วนใหญ่เป็นไขมันอิ่มตัว ซึ่งแนวทางอาหารฯ ของ USDA แนะนำให้จำกัดการบริโภคไขมันอิ่มตัว และทดแทนด้วยไขมันไม่อิ่มตัว ถ้ามองแต่โคเลสเตอรอลอย่างเดียวว่ารับประทานได้ จะทำให้ได้รับไขมันอิ่มตัวสูงขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงควรต้องจำกัดการบริโภคโคเลสเตอรอลด้วย ซึ่งในงานวิจัยพบว่า ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และลดน้ำหนักด้วย
      3. พยายามหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ หรือได้รับให้น้อยทีสุด เพราะมีส่วนเพิ่ม LDL-c และความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

     "เรื่องของไขมัน ข้อเท็จจริง" ได้จบในตอนที่ 2 ที่ผมได้อ้างถึงแนวทางอาหารฯ ของ USDA ที่เป็นต้นตอของข่าวเรื่องโคเลสเตอรอลมาตลอดปีกว่านี้ ผมไม่ทราบว่าได้ตอบคำถามหรือข้อสงสัยไปบ้างหรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ก็ขอให้ทุกท่านที่อ่านใช้วิจารณญาณเอง
     มีหลายเรื่องที่น่าทราบเกี่ยวกับอาหาร ผมอาจจะเขียนเรื่องอาหารต่ออีก ช่วยกันติดตามด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น