วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารปกติ....ถือว่าปลอดภัยจากเบาหวาน?

น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารปกติ....ถือว่าปลอดภัยจากเบาหวาน?

            ผลตรวจสุขภาพเป็นไงบ้าง ของผม น้ำตาลในเลือดได้ 96 มก/ดล. หมอบอกไม่เป็นเบาหวาน แต่ไตรกลีเซอไรด์สูงเกินไป ได้ตั้ง 268 มก/ดล.
            ของผมดีหมด น้ำตาลในเลือดได้แค่ 90 มก/ดล. เท่านั้น  ไตรกลีเซอไรด์ก็ปกติ  แต่หมอให้ลดความอ้วน

            น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารอยู่ในเกณฑ์ปกติ ปลอดภัยจากเบาหวานแน่แล้วหรือ?
หลายคนที่ไปตรวจสุขภาพประจำปี คงจะโล่งอกที่ไม่เป็นเบาหวาน  ชีวิตนี้ยังสุขสบายได้เต็มที่อีกนาน
            เมื่อยังไม่เป็น ก็ขอปล่อยตัวตามสบาย ถึงอย่างไรตอนนี้ยังไม่เป็น

แต่....อย่าเพิ่งชะล่าใจ ตอนนี้ยังไม่เป็น  แล้วตอนหน้าล่ะมีโอกาสหรือไม่

            น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารที่ตรวจจากน้ำเหลืองหรือพลาสม่าในคนปกติอยู่ที่ 70-99 มก/ดล.  ขณะที่เกณฑ์การวินิจฉัยเบาหวานอยู่ที่ 126 มก/ดล.ขึ้นไป  ค่าที่อยู่ระหว่าง 100-125 มก/ดลจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความบกพร่องต่อกลูโคสขณะอดอาหาร (impaired fasting glucose) ซึ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็ถือว่าเป็น กลุ่มเสี่ยงต่อเบาหวาน และจัดอยู่ในภาวะก่อนเบาหวาน (prediabetes) นั่นคือ มีโอกาสเป็นเบาหวานมากกว่าผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ
            ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่า คนที่มีค่าน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารระหว่าง 70-99 มก/ดล ก็ถือว่าปลอดภัยจากเบาหวานแล้ว ถ้าจะตอบ ณ ขณะนี้ก็บอกได้ว่าใช่  แต่....อย่าชะล่าใจ
            Dr. Gambino และคณะได้ศึกษาในผู้ชายอายุระหว่าง 26-45 ปี ที่อยู่ในกองกำลังรักษาความปลอดภัยของอิสราเอล ตั้งแต่ปี 1992-2004 จำนวนทั้งสิ้น 13,163 ราย  ทั้งหมดนี้มีค่าน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารต่ำกว่า 100 มก/ดล  Dr. Gambino ได้รายงานในวารสาร New England Journal of Medicine เมื่อปี 2005 ว่า ผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารมากกว่า 87 มก/ดล ขึ้นไป มีโอกาสเป็นเบาหวานมากกว่าผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารน้อยกว่า 81 มก/ดล  ถ้าวิเคราะห์ร่วมกับค่าของไตรกลีเซอไรด์ พบว่า ผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารระหว่าง 91-99 มก/ดล และมีค่าไตรกลีเซอไรด์สูงกว่า 150 มก/ดล  มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานมากกว่าผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารน้อยกว่า 86 มก/ดล และค่าไตรกลีเซอไรด์น้อยกว่า 150 มก/ดล ถึง 8.23 เท่า  ถ้าพิจารณากับดัชนีมวลกาย (body mass index) พบว่า ผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารระหว่าง 91-99 มก/ดล และมีดัชนีนี้มวลกายมากกว่า 30 มีโอกาสเป็นเบาหวานมากกว่าผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารน้อยกว่า 86 มก/ดล และมีดัชนีมวลกายน้อยกว่า 25 ถึง 8.29 เท่า  โดยสรุปแล้ว น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารที่อยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ค่อนไปทางสูง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงตัวหนึ่งของการเกิดโรคเบาหวาน โดยเฉพาะถ้าร่วมกับการที่มีดัชนีมวลกายสูงและค่าไตรกลีเซอไรด์สูงด้วย ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงปัจจัยเสี่ยงในผู้ชายที่มีสุขภาพปกติ

ผลน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร 96 มก/ดล. ไตรกลีเซอไรด์สูง 268 มก/ดล. 

น้ำตาลในเลือดได้ 90 มก/ดล. ไตรกลีเซอไรด์ปกติ  แต่อ้วน

ทั้งสองราย ในขณะนี้ยังไม่เป็นเบาหวาน แต่ก็อาจบอกได้ว่า บังเอิญตรวจพบปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิดเบาหวานได้ในอนาคต

            แล้วถ้าป้องกันแต่แรก ด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก โดยที่ยังไม่เป็นเบาหวาน น่าจะคุ้มค่ากว่าหรือไม่ที่จะรอให้เป็นเบาหวานแล้วค่อยมารักษา

     บทความข้างตนนี้ เป็นบทความเก่าที่ผมเคยลงในวารสารเบาหวานเมื่อปีพ.ศ. 2549 ถึงแม้จะสิบปีแล้ว แต่คิดว่า ยังเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และเห็นว่า มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับ "ภาวะก่อนเบาหวาน" ในบล็อกก่อนนั้น  โดยทางทฤษฎี ได้มีการกล่าวไว้อยู่แล้วว่า ภาวะที่มีไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง และไขมันตัวดี (คือ HDL-c) ต่ำ เป็นปัจจัยเสี่ยงของเบาหวาน (และกลุ่มอาการเมตะบอลิคด้วย)  ความอ้วนก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานโดยตรงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผู้วิจัยรายงานมานั้น คือการใช้หลักไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง และความอ้วน มาติดตามผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารที่มีค่าปกติ แต่ค่อนไปทางสูง (คือ 91-99 มก/ดล) และพบว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานสูงถึง 8 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่มี่น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารน้อยกว่า 86 มก/ดล. และไตรกลีเซอไรด์น้อยกว่า 150 มก/ดล. หรือมีดัชนีมวลกายน้อยกว่า 25  นอกจากปัจจัยเสี่ยงของไตรกลีเซอไรด์ และความอ้วนแล้ว ผู้รายงาน ยังบอกว่า ค่าของน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (fasting plasma glucose) ยังมีความสำคัญต่อการทำนายความเสี่ยงเบาหวาน โดยตัดที่ค่า 87 มก/ดล. รายงานการวิจัยนี้ เป็นการศึกษาในเพศชายทั้งหมด และมีอายุระหว่าง 26-45 ปี ดังนั้น จึงไม่สามารถมาอธิบาย หรือประยุกต์ในเพศหญิง และผู้ที่มีอายุมากกว่านี้ได้

     โดยทางปฏิบัติ ผู้ที่อ้วน หรือมีไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง ผมถือว่า เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งต่อการเกิดเบาหวาน ถ้าสามารถตรวจเพิ่มเติมได้ ผมจะขอให้ตรวจฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) เพิ่ม (HbA1c ที่อยู่ระหว่าง 5.7-6.4% ถือว่าเป็นภาวะก่อนเบาหวานหรือ prediabetes) หรืออาจจะแนะนำทำการทดสอบความทนต่่อกลูโคสด้วยการดื่มกลูโคส 75 กรัม ซึ่งอาจจะพบภาวะก่อนเบาหวาน หรือแม้กระทั่งเบาหวานด้วย

     โดยสรุปแล้ว สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อในบล็อกนี้คือ
     1. ภาวะก่อนเบาหวานและกลุ่มอาการเมตะบอลิคเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวาน
   2. ถึงแม้น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร ที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ค่อนไปทางสูง (>87 มก/ดล.) ก็มีความเสี่ยงมากขึ้น มากกว่าที่มีค่าน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารน้อยกว่า 81 มก/ดล. (เฉพาะผู้ชาย อายุระหว่าง 26-45 ปี)
    3. ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง และความอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ถึงแม้จะมีค่าน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารปกติก็ตาม

     ยากไปไหมครับ แต่เห็นเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันมาตลอดจากบล็อกที่แล้ว

3 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับบทความดีๆค่ะ
    อ่านแบบนี้แล้วรีบๆกลับไปลดน้ำหนักด่วนๆเลยค่ะ

    ตอบลบ