วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c)

     ฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) คืออะไร หลายคนอาจจะพอทราบแล้ว บางคนอาจจะคุ้นๆ เพราะได้ฟังได้ยินบ่อย แต่อาจจะคุ้นกับคำว่า น้ำตาลสะสม หรือน้ำตาลเฉลี่ย มากกว่า เชื่อว่า อีกหลายคนอาจจะไม่รู้จักเลย 
     ฮีโมโกลบินเอวันซี เป็นการวัดค่าของน้ำตาลในเลือดที่จับกับฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง และนำมาใช้เป็นค่า น้ำตาลเฉลี่ย ในเลือดที่ดูย้อนหลังไป 3 เดือน แพทย์บางท่านก็ใช้คำ น้ำตาลสะสม เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น แต่โดยความหมายแล้วจะสะท้อนถึงค่าเฉลี่ยของน้ำตาลในเลือดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
     ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin ตัวย่อคือ Hb) เป็นโปรตีนที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง มีหน้าที่ในการนำออกซิเจนแจกจ่ายแก่เนื้อเยื่อต่างๆ ประเภทของฮีโมโกลบินที่มีมากที่สุดในเม็ดเลือดแดงคือ ฮีโมโกลบินเอ (HbA) ที่มีถึงประมาณ 97%  เม็ดเลือดแดงสร้างที่ไขกระดูก และปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดจนสิ้นอายุขัย ซึ่งมีอายุเฉลี่ยประมาณ 120 วัน เม็ดเลือดแดงที่แก่ตายจะถูกทำลายที่ม้าม และระบบต่อมน้ำเหลือง
     เม็ดเลือดแดงมีลักษณะกลมแบน บุ๋มตรงกลาง คล้ายโดนัท สามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างเพื่อลอดผ่านหลอดเลือดฝอยเล็กๆได้  โดยทั่วไป ผู้หญิงจะมีจำนวนเม็ดเลือดแดงประมาณ 4-5 ล้านเซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ผู้ชายจะมีมากกว่า คือประมาณ 5-6 ล้านเซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร มนุษย์ที่โตเต็มที่แล้ว จะมีเม็ดเลือดแดงไหลเวียนในร่างกายประมาณ 20-30 ล้านล้านเซลล์ เมื่อเม็ดเลือดแดงมีอายุเฉลี่ยประมาณ 120 วัน จึงมีอัตราการสร้างใหม่และทำลาย ทดแทนตลอดเวลา
     กลูโคสคือน้ำตาลที่ละลายอยู่ในน้ำเหลือง (พลาสม่า) ไหลเวียนในกระแสเลือด กลูโคสเป็นสารที่นำไปใช้เป็นพลังงานของเนื้อเยื่อหลายประเภท เช่น กล้ามเนื้อลาย เนื้อเยื่อไขมัน เม็ดเลือดแดง สมอง เป็นต้น กลูโคสในกระแสเลือดได้มาจากการย่อยอาหารกลุ่มแป้งหรือคาร์โบฮัยเดรทที่รับประทานเข้าไป และจากการสร้างที่ตับ เม็ดเลือดแดงที่ปล่อยจากไขกระดูก เมื่อเข้าสู่กระแสเลือด กลูโคสที่มีอยู่ในเลือดขณะนั้น ก็จะจับกับฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดงจำนวนหนึ่ง (เรียกปฏิกิริยานี้ว่า glycation ฮีโมโกลบินที่มีกลูโคสจับ เรียกว่า glycated hemglobin) ซึ่งสามารถตรวจวัดค่านี้ได้ทางห้องปฏิบัติการ และค่าที่ตรวจได้มากที่สุด ได้มาจากฮีโมโกลบินเอ จึงเรียกว่า ฮีโมโกลบินเอวันซี หรือตัวย่อ HbA1c บ่อยๆเข้า เหลือแค่ A1c ก็มี  ฮีโมโกลบินที่มีน้ำตาลเกาะอยู่นี้ จะไหลเวียนในกระแสเลือดตามอายุไขเม็ดเลือดแดง
     เม็ดเลือดแดงตัวอ่อนที่ถูกปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด จะเกิดขึ้นตลอดเวลา การจับของน้ำตาลต่อเม็ดเลือดแดง มากน้อยแค่ไหนขึ้นกับระดับของกลูโคสในกระแสเลือด ถ้าน้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก ก็จับระดับหนึ่ง ถ้าน้ำตาลในเลือดสูงมาก ก็จับได้มากขึ้น เม็ดเลือดแดงแต่ละตัวจึงมีกลูโคสจับมากน้อยแค่ไหน จึงขึ้นอยู่กับเวลาที่รับประทานอะไรลงไป มากน้อย บ่อย แค่ไหน  ถ้าประมาณว่า น้ำตาลในเลือดคนปกติขณะอดอาหาร อยู่ระหว่าง 70-99 มก/ดล. น้ำตาลในเลือดหลังอาหารคนปกติไม่ควรเกิน 140 มก/ดล. นั่นคือ น้ำตาลในเลือดในคนไม่เป็นเบาหวาน น่าจะแกว่งที่ 70-140 มก/ดล. ไม่ว่าจะกินอะไรมากน้อยแค่ไหนก็ตาม  ค่าน้ำตาลในเลือดระหว่างนี้ จึงทำให้น้ำตาลที่จับกับเม็ดเลือดแดง วัดได้เป็นปริมาณของ HbA1c อยู่ระหว่างประมาณ 4-6%
     ในคนที่เป็นเบาหวานที่น้ำตาลในเลือดสูงทั้งก่อนอาหารและหลังอาหาร จึงทำให้น้ำตาลไปจับกับเม็ดเลือดแดงได้มากขึ้น ค่า HbA1c ก็สูงมากขึ้น และเนื่องจากอายุของเม็ดเลือดแดงมีประมาณ 120 วัน ค่า HbA1c จึงเป็นเสมือนสะท้อนค่าเฉลี่ยของน้ำตาลในเลือดในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา

     ยากเกินไปไหมครับ มีเพื่อนสนิทผมโทรฯ มาบอกว่า ติดตามอ่านของผมมาตลอด ชอบ แต่วัยระดับนี้แล้ว (ระดับแค่ไหน?) สมาธิอ่านได้ไม่นาน เพราะฉะนั้น อย่าลงยาวมาก
    ก็เลยขออนุญาต ติดตามตอนต่อไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น