วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เมื่อไหร่เป็นเบาหวาน

     "เมื่อไหร่เป็นเบาหวาน" ขอเป็นบทนำแรก ที่จะถ่ายทอดสู่กันฟัง ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน ก็เหมือนถูกตีตราให้เป็นไปตลอดชีวิต เกณฑ์การวินิจฉัยจึงมีความสำคัญมาก "คุณไม่เป็นเบาหวาน" "ใกล้จะเป็น หรือจวนจะเป็นเบาหวานแล้ว" หรือ "คุณเป็นเบาหวาน" คงเป็นคำพูดที่ให้อารมณ์คนรับฟังแตกต่างกันไป  ความสำคัญของการตรวจวินิจฉัยเบาหวานจึงมีความสำคัญมากในทางปฏิบัติ
     1. นำไปสู่การวางแผนการรักษาเฉพาะแต่ละบุคคล ที่ไม่เหมือนกัน (individual care plan)
     2. เพื่อการป้องกัน ทั้งการป้องกันปฐมภูมิ (primary prevention) คือป้องกันคนที่ยังไม่เป็นเบาหวาน (กลุ่มเสี่ยง) ไม่ให้เป็นเบาหวาน  การป้องกันทุติยภูมิ (secondary prevention) คือป้องกันคนที่เป็นเบาหวานแล้วไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน หรือดำเนินโรคต่อไปเรื่อยๆ  และการป้องกันตติยภูมิ (tertiary prevention) คือคนที่เป็นเบาหวานและมีโรคแทรกซ้อนแล้ว พยายามประคับประคองให้ดำรงชีวิตอย่างปกติสุข ชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนซ้ำเติมหรือโรคแทรกซ้อนใหม่
     3. เกณฑ์การวินิจฉัยเบาหวาน จึงไม่ใช่เพียงแค่วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานหรือยัง แต่เป็นการค้นหากลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในภาวะก่อนเบาหวาน (pre-diabetes) ด้วย


     ก่อนที่จะไปถึงเกณฑ์การวินิจฉัย ขออธิบายคำจำกัดความคำว่า “เบาหวาน” ให้เข้าใจก่อน ถ้าดูตามความหมายของคำ ก็บอกได้ชัดเจนว่า เบาออกมาแล้วหวานซึ่งหมายถึงปัสสาวะมีรสหวาน การที่มีรสหวานได้ก็ต้องมีน้ำตาลปนอยู่ด้วย  เบาหวานจึงแสดงถึงการที่มีน้ำตาลปนออกมาในปัสสาวะ ทำให้เกิดรสหวาน  ถ้าดูคำภาษาอังกฤษของเบาหวานคือ diabetes mellitus  “Diabetes” เป็นคำมาจากภาษากรีก แปลว่า syphon หรือ pass through ซึ่งหมายถึงการที่มีปัสสาวะมาก  ส่วนคำว่า “Mellitus” เป็นคำมาจากภาษาละตินและกรีก หมายถึงน้ำผึ้ง  “Diabetes Mellitus” จึงหมายถึงความผิดปกติที่มีปัสสาวะออกมาก และมีรสหวาน (เปรียบเสมือนน้ำผึ้ง) ซึ่งมีความหมายที่ใกล้เคียงกับคำว่า เบาหวานของไทยมาก


     "เมื่อไหร่เป็นเบาหวาน" เกณฑ์วินิจฉัยที่ใช้กันทั่วโลกคือ

1. น้ำตาลในเลือด (ส่วนน้ำเหลืองหรือพลาสม่า – plasma glucose) หลังอดอาหาร 8 ชั่วโมงเท่ากับหรือมากกว่า 126 มก/ดล.
2. น้ำตาลในเลือด (ส่วนพลาสม่า) เวลาใดก็ได้ (ไม่ต้องอดอาหาร) เท่ากับหรือมากกว่า 200 มก/ดล. ร่วมกับมีอาการของเบาหวาน
3. น้ำตาลในเลือด (ส่วนพลาสม่า) 2 ชั่วโมงหลังดื่มกลูโคส 75 กรัม เท่ากับหรือมากกว่า 200 มก/ดล.
4.  ค่าฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) เท่ากับหรือมากกว่า 6.5%
     เกณฑ์ในข้อที่ 1 ถ้าไม่สูงชัดเจนมาก ควรตรวจซ้ำในวันต่อมาเพื่อการยืนยัน

     ค่าน้ำตาลในเลือด (พลาสม่า) หลังอดอาหาร 8 ชั่วโมงขึ้นไปในคนปกติ เท่ากับ 70-99 มก/ดล. บางคนโดยเฉพาะผู้หญิง อาจจะต่ำกว่า 70 มก/ดล. ก็พบได้ โดยที่ไม่มีอาการอะไร

     ท่านที่เป็นเบาหวาน จำได้หรือไม่ว่าน้ำตาลในเลือดครั้งแรกของท่านที่วินิจฉัยเบาหวานสูงเท่าไร ส่วนคนที่เคยตรวจสุขภาพมาแล้ว และไม่เป็นเบาหวาน จำได้หรือไม่ว่า น้ำตาลในเลือดของท่านได้เท่าไร ถ้าน้ำตาลในเลือดของท่านได้ต่ำกว่า 99 มก/ดล. ก็ปกติ แต่ถ้าสูงกว่า 126 มก/ดล. ก็ถือว่าเป็นเบาหวาน แล้วระหว่าง 100-125 มก/ดล. ล่ะคืออะไร

     น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารที่อยู่ระหว่าง 100-125 มก/ดล. เรียกว่า "ภาวะน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารบกพร่อง" (impaired fasting glucose หรือ IFG) นั่นคือ น้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารไม่ปกติ แต่ไม่สูงถึงกับเป็นเบาหวาน คนกลุ่มนี้จะพบได้มากพอสมควร และถ้านำมาทดสอบความทนต่อน้ำตาล (glucose tolerance test) ด้วยการให้ดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม และเจาะเลือดหลังดื่ม 2 ชั่วโมง จะมีผลมาได้ 3  ทางคือ
     1. น้ำตาลในเลือด 2 ชั่วโมงหลังดื่มกลูโคส 75 กรัม ได้น้อยกว่า 140 มก/ดล. ถือว่า ปกติ
     2. น้ำตาลในเลือด 2 ชั่วโมงหลังดื่มกลูโคส 75 กรัม ได้เท่ากับหรือมากกว่า 200 มก/ดล. ถือว่า เป็นเบาหวาน (ข้อ 3 ในเกณฑ์วินิจฉัยเบาหวาน)
     3. น้ำตาลในเลือด 2 ชั่วโมงหลังดื่มกลูโคส 75 กรัม อยู่ระหว่าง 140-199 มก/ดล. ถือว่า ไม่ปกติ แต่ก็ไม่เป็นเบาหวาน ซึ่งจะเรียกภาวะนี้ว่า "ภาวะความทนต่อน้ำตาลบกพร่อง"  (impaired glucose tolerance หรือ IGT)
     ทั้ง ภาวะน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารบกพร่อง (IFG) และภาวะความทนต่อน้ำตาลบกพร่อง (IGT) รวมเรียกว่า ภาวะก่อนเบาหวาน (pre-diabetes)

     พอจำค่าน้ำตาลในเลือดของท่านเมื่อไปตรวจสุขภาพได้หรือไม่ หมออาจจะบอกว่า ท่านไม่ได้เป็นเบาหวาน แต่แน่ใจไหมว่า ท่านไม่ได้อยู่ในภาวะก่อนเบาหวาน

     มีคำอีกคำหนึ่งที่จะเข้าใจผิดกันบ่อยๆคือ คำว่า "เบาหวานแฝง" (latent diabetes) แพทย์หลายท่านใช้ภาวะความทนต่อน้ำตาลบกพร่อง (IGT) อธิบายว่า เป็นเบาหวานแฝง แต่สำหรับผมแล้ว คำว่า "เบาหวานแฝง" น่าจะหมายถึงว่า เป็นเบาหวานแล้ว แต่วินิจฉัยไม่ได้ด้วยการตรวจน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร ถ้ามาวิเคราะห์เกณฑ์การวินิจฉัยให้ดี จะพบว่า การวินิจฉัยด้วยค่าน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (เท่ากับหรือมากกว่า 126 มก/ดล.) ความไวในการวินิจฉัยต่ำกว่าการทดสอบความทนต่อน้ำตาล (glucose tolerance test) น้ำตาลในเลือด 2 ชั่วโมงหลังดื่มกลูโคส 75 กรัม ที่ได้เท่ากับหรือมากกว่า 200 มก/ดล. วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานได้ทันที โดยที่น้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร ค่าอยู่ที่เท่าไรก็ได้ (คือต่ำกว่า 126 มก/ดล.)  ยกตัวอย่าง ค่าน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารได้ 108 มก/ดล. ยังไม่เป็นเบาหวาน เมื่อมาทดสอบความทนต่อน้ำตาล พบว่า น้ำตาล 2 ชั่วโมงหลังดื่มกลูโคสได้ 230 มก/ดล. วินิจฉัยทันทีว่า เป็นเบาหวาน นั่นคือการทดสอบความทนต่อน้ำตาลให้ความไวในการวินิจฉัยเบาหวานมากกว่าค่าน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างเดียว คนที่เป็นเบาหวานด้วยการวินิจฉัยแบบนี้ ถึงน่าจะเรียกว่า "เบาหวานแฝง" คือจะไม่รู้ว่า ตนเองเป็นเบาหวาน ถ้าไม่ได้ทดสอบให้ละเอียดขึ้น

     การวินิจฉัยเบาหวานอีกข้อหนึ่งคือ การไปตรวจเลือดเวลาใดก็ได้ โดยไม่อดอาหาร และค่าน้ำตาลในเลือดเท่ากับหรือสูงกว่า 200 มก/ดล. ร่วมกับมีอาการของเบาหวาน  คนที่เป็นเบาหวานหลายคน หรืออาจจะมากกว่าครึ่งด้วยซ้ำ ที่ไม่มีอาการของเบาหวาน และไม่รู้ตัวเองมาก่อนว่าเป็นเบาหวาน  หลายคนอาจจะมีอาการ แต่ไม่รู้ว่าเหล่านี้คืออาการของเบาหวาน คืออาการไม่ผิดปกติชัดเจน จนสังเกตได้  โดยทั่วไป อาการของเบาหวานที่พบได้บ่อยคือ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย หิวบ่อย และน้ำหนักลด (3 บ่อย 1 ลด) บางคนอาจจะมีอาการอ่อนเพลียง่าย ง่วงเหงาหาวนอนบ่อย คันช่องคลอด หรือคันผิวหนัง เป็นต้น ถ้าไปตรวจน้ำตาลในเลือดโดยที่ไม่ได้อดอาหาร และสูงกว่า 200 มก/ดล. ก็วินิจฉัยเบาหวานได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอาการของเบาหวานในแต่ละคนหลากหลายมาก และส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ถ้าน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ตาม ได้สูงมาก ก็ควรวินิจฉัยเบาหวานได้เลย หรือถ้าตรวจฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) ด้วย และได้เท่ากับหรือมากกว่า 6.5% ก็วินิจฉัยเบาหวานได้

     ฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) คืออะไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเรื่องใหญ่ที่ต้องคุยกันไปเรื่อย ถ้าสนใจ โปรดติดตามต่อครับ



7 ความคิดเห็น:

  1. ลงวันที่ผิดครับ ที่จริงเป็นวันที่ 5 พฤษภาคม 2559

    ตอบลบ
  2. อ่านแล้วเข้าใจง่าย และได้สาระประโยชน์มากค่ะ จะคอยติดตามค่ะ

    ตอบลบ
  3. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  4. ได้สาระประโยชน์มากค่ะ จะคอยติดตามต่อไปค่ะ

    ตอบลบ
  5. ยอดมากครับ จะคอยติดตามต่อไปครับ

    ตอบลบ
  6. The Casino at The Star Gold Coast - MapyRO
    The Star 밀양 출장마사지 Gold 거제 출장샵 Coast 삼척 출장안마 is a 영주 출장안마 popular entertainment destination featuring over 2,800 beautifully appointed rooms. View detailed customer reviews, videos,  Rating: 3.5 · ‎10 votes · ‎Price 공주 출장마사지 range: $111

    ตอบลบ