วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เป็นเบาหวานหรือไม่ ควรต้องทำอย่างไร

     ผมเคยได้รับคำถามที่บ่อยพอสมควรว่า ต้องการตรวจเช็คเบาหวาน ต้องทำอย่างไรบ้าง  ท่านที่ได้ติดตามบล็อกของผมมาตลอดที่เริ่มต้นในหัวข้อที่ว่า "เมื่อไหร่เป็นเบาหวาน" และได้บรรยายติดพันต่อเนื่องกันมาจนถึงเรื่องฮีโมโกลบินเอวันซีนั้น เป้าหมายที่ผมต้องการสื่อให้ทราบคือเกณฑ์การวินิจฉัยเบาหวาน ดังนั้น ในบล็อกนี้ ผมขอสรุปในประเด็นที่ว่า ต้องการรู้ว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ ควรต้องทำอย่างไร

     การตรวจแบบงดอาหาร
     1. ขอให้งดอาหาร และ/หรือ เครื่องดื่มที่ให้พลังงาน อย่างน้อย 8 ชั่วโมงขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องยึดถือว่า งดอาหารหลังเที่ยงคืนตามที่บอกๆกันมา ซึ่งหลายท่านอาจจะไม่ได้รับประทานอาหารหรือดื่มอะไรเลยตั้งแต่สามทุ่ม จึงไม่จำเป็นต้องมานับเวลาเอาตอนเที่ยงคืน สมมติเช่น ดื่มนมเมื่อตอนสี่ทุ่ม ก็มาเจาะเลือดได้ตั้งแต่หกโมงเช้าเป็นต้นไป หรือถ้าดื่มน้ำส้มตอนเที่ยงคืน ก็มาเจาะเลือดได้หลังแปดโมงเช้า เป็นต้น ระหว่างที่งดอาหารหรือเครื่องดื่มที่ให้พลังงานนั้น ท่านจิบหรือดื่มน้ำเปล่าได้ ไม่จำเป็นต้องงดทุกอย่างทางปาก การงดทุกอย่างทางปากนั้น จะกระทำในบางกรณี เช่น ผ่าตัด ส่องกล้องทางเดินอาหาร หรือตรวจอุลตร้าซาวนด์ หรือเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
     2. เจาะเลือดตรวจน้ำตาลในเลือด และฮีโมโกลบินเอวันซี (ดู "เกณฑ์การวินิจฉัยเบาหวาน" ในหัวข้อ "เมื่อไหร่เป็นเบาหวาน)  ถ้าน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร ได้เท่ากับหรือมากกว่า 126 มก/ดล. ก็วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน (ควรตรวจซ้ำในวันถัดมา) ถ้าอยู่ระหว่าง 100-125 มก/ดล. ก็เป็นภาวะก่อนเบาหวาน ถ้าต่ำกว่า 99 มก/ดล. ก็คือปกติ แต่ถ้าน้ำตาลในเลือดไม่ถึง 126 มก/ดล. และฮีโมโกลบินเอวันซีได้เท่ากับ หรือสูงกว่า 6.5% ก็ถือว่าเป็นเบาหวาน ในกรณีนี้ ถ้าแพทย์ และตัวท่านไม่มั่นใจ ควรจะต้องตรวจซ้ำใหม่ในวันอื่น หรือตรวจการทดสอบความทนต่อน้ำตาลด้วยกลูโคส 75 กรัม หรือตรวจน้ำตาลหลังอาหาร เพื่อยืนยันการวินิจฉัย กรณีแบบนี้ จะพบได้ในผู้ที่เป็นเบาหวานระยะแรกๆ ซึ่งถ้าตรวจพบได้เร็ว จะเป็นผลดีที่จะได้ดูแลรักษาแต่แรกเริ่ม  ถ้าฮีโมโกลบินเอวันซีอยู่ระหว่าง 5.7-6.4% ก็วินิจฉัยได้ว่า อยู่ในภาวะก่อนเบาหวาน 

     การตรวจแบบไม่อดอาหาร
     ในกรณีที่ไม่ได้งดอาหาร จะมาตรวจเลือดเวลาใดก็ได้ ขอให้ตรวจน้ำตาลในเลือด และฮีโมโกลบินเอวันซี  ถ้าได้ค่าน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 มก/ดล. (ร่วมกับอาการของเบาหวาน) ก็วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน หรือถ้าน้ำตาลในเลือดสูงมากๆ เช่น 250 หรือ 300 มก/ดล. ถึงแม้ไม่มีอาการของเบาหวานเลย ก็วินิจฉัยเบาหวานได้ (ส่วนใหญ่เบาหวานประเภทที่ 2 ไม่มีอาการอะไร) ถ้าฮีโมโกลบินเอวันซี เท่ากับหรือมากกว่า 6.5% ก็วินิจฉัยเบาหวาน ไม่ว่าน้ำตาลในเลือดจะได้ค่าเท่าไหร่ก็ตาม
     การตรวจแบบไม่งดอาหารนี้ ขอให้ตรวจฮีโมโกลบิเอวันซีด้วยทุกครั้ง ไม่เช่นนั้น ค่ำน้ำตาลในเลือดที่ต่ำกว่า 200 มก/ดล. จะแปลผลยากว่า เป็นอะไร

     จะเห็นได้ว่า อีโมโกลบินเอวันซี มีความสำคัญมากในการตรวจคัดกรองเบาหวาน อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการตรวจอีโมโกลบินเอวันซี สูงกว่าการตรวจค่าน้ำตาลในเลือด และวิธีการและเครื่องมือที่ตรวจฮีโมโกลบินเอวันซี ต้องได้รับการรับรองที่ได้มาตรฐานสำหรับการวินิจฉัย  ถ้าต้องการตรวจด้วยค่าน้ำตาลในเลือดอย่างเดียว ควรตรวจแบบงดอาหารมาจะได้ประโยน์กว่า

     ภาวะก่อนเบาหวาน ถึงแม้ยังไม่เป็นเบาหวาน แต่ก็ไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ ในทางพยาธิสรีรวิทยา (pathophysiology) ถือว่า มีความผิดปกติในการเผาผลาญคาร์โบฮัยเดรทแล้ว ซึ่งในภาวะนี้ สามารถป้องกันการการดำเนินโรคต่อไปเป็นเบาหวานได้  แต่ถ้าไม่ดูแลรักษาตัวเองให้ถูกต้อง ก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นเบาหวานมากกว่าคนปกติทั่วไป รวมทั้งโรคทางหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หรืออัมพาต เป็นต้น

     เบาหวานที่วินิจฉัยได้แต่แรกเริ่ม และดูแลรักษาให้ดี จะได้ประโยชน์มากที่สุด ตั้งแต่ การรักษาให้ได้ดี ง่ายกว่าคนที่เป็นมานานแล้ว การป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆไม่ให้เกิดขึ้น (การป้องกันทุติยะภูมิ) ค่าใช้จ่ายในการรักษาไม่สูงมาก ชะลอการดำเนินโรคเบาหวานไม่ให้รุนแรงมากขึ้น การมีชีวิตยืนยาวมากกว่าคนที่รักษาไม่ได้ดี คุณภาพชีวิตดีขึ้น ฯลฯ 

     แล้วใครบ้างที่สมควรตรวจคัดกรองเบาหวาน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น